"กลุ่มตัวอย่างสูงถึง 40.7% ตอบว่าไม่พร้อมเข้าไปทำการค้าในอาเซียน ส่วน 54.4% ตอบพร้อมปานกลางถึงน้อยมาก และอีก 5.9% ตอบพร้อมมากที่สุด นอกจากนี้เมื่อถามถึงความพร้อมในการเข้าไปลงทุนในอาเซียน ผู้ตอบ 69.9% ระบุไม่พร้อม ส่วน 29% ระบุพร้อมปานกลางถึงน้อยมาก มีเพียง 1.4% ที่ระบุพร้อมมาก" นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการไทยด้านการค้าและการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 800ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 ก.พ.ที่ผ่านมา
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ไม่พร้อมในการทำการค้า ผู้ตอบมากถึง 27.5% ระบุไม่พร้อมด้านภาษาในการสื่อสาร รองลงมา 15.3% ไม่มีคนแนะนำ และ 12.4% กฎหมาย กฎระเบียบ ขณะที่สาเหตุความไม่พร้อมด้านการลงทุน ผู้ตอบส่วนใหญ่ 26.7% ระบุเงินลงทุน/สถาบันการเงินในต่างประเทศ รองลงมา 18.1% ระบุภาษาในการสื่อสาร และ17.6% ไม่มีคนแนะนำ
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงประเทศที่มีโอกาสทำการค้ามากที่สุด ผู้ตอบ 21.1% ระบุพม่า รองลงมา 16.5% ระบุลาวและ 15.4% กัมพูชา ส่วนด้านการลงทุน ส่วนใหญ่ 18.7% ระบุพม่าเช่นกัน รองลงมา 18.1% ลาว และ 16.6% อินโดนีเซีย โดยเหตุผลที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจเลือกทำการค้าเพราะพื้นที่อยู่ติดกับไทย ต้นทุนการขนส่งต่ำ ซึ่งต่างจากปัจจัยพิจารณาด้านการลงทุน ที่ส่วนใหญ่ระบุว่าต้องมีแนวโน้มการเติบโตดี รัฐบาลสนับสนุน และดูสิทธิพิเศษด้านการลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว่า ทิศทางเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปีนี้และอีก 5 ปีข้างหน้า โดยคาดอาเซียนจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5.5% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่น่าสนใจสำหรับการค้าและการลงทุน แต่จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทยยังไม่มีความพร้อม เพราะขาดข้อมูลและขาดแผนสนับสนุนที่ชัดเจน
ขณะที่ น.ส.นิ่มนวล ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์ AEC มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงกฎหมายการลงทุนสำคัญของอาเซียนที่นักลงทุนต้องรู้ว่า กฎหมายสำคัญที่พม่าได้แก้ไขแล้ว ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการลงทุนของคนต่างชาติ รวมถึงกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนภายใต้กฎหมายดังกล่าวที่ให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ธุรกิจใดลงทุนหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางการลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยต้องศึกษาข้อกฎหมายให้เข้าใจและทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนได้ทางหนึ่ง