นายคุโรดะวัย 68 ปี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ป่นผู้นี้ นับเป็นคนแรกของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลังญี่ปุ่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการบีโอเจโดยไม่เคยผ่านการเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อน
ทั้งนี้ นายคุโรดะเข้าทำงานในกระทรวงการคลังญี่ปุ่นในปีพ.ศ. 2510 และเขามีส่วนในการช่วยออกแบบและใช้มาตรการริเริ่มมิยาซาว่า (Miyazawa Initiative) วงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีพ.ศ. 2541 เพื่อสนับสนุนประเทศเอเชียที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงิน ซึ่งในเวลานั้นเขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานระหว่างประเทศ
จากนั้นในปีพ.ศ. 2542 เขาก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ และดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ซึ่งยาวนานกว่าเจ้าหน้าที่คนอื่นๆที่เคยดำรงตำแหน่งนี้
ในปีพ.ศ.2543 เขาทำการก่อตั้งเครือข่ายการทำข้อตกลงสว็อปค่าเงิน หรือที่เรียกกว่า มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นในกรณีที่เกิดวิกฤตในญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ หรือประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกอาเซียน
หลังจากทำงานให้กับกระทรวงการคลังญี่ปุ่นแล้ว นายคุโรดะได้เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ในกรุงโตเกียว ก่อนที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเอดีบีในปีพ.ศ. 2548
ในปีพ.ศ.2555 นายคุโรดะได้รับเลือกให้นั่งตำแหน่งประธานเอดีบีเป็นสมัยที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่ามา
เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สนับสนุนนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบเชิงรุก โดยเขาได้เรียกร้องให้มีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ รวมถึงสำนักข่าวเกียวโดนั้น นายคุโรดะได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนในการผ่อนคลายการเงินของบีโอเจว่า บีโอเจ "ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างทั่วถึง" เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี
นายคุโรดะ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และได้รับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดนั้น ได้เขียนหนังสือหลายเล่ม รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน, การจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ และผลกระทบของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีต่อการเจรจาระหว่างประเทศ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน