ทั้งนี้ มีแผนดำเนินงานใน 4 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 บริหารจัดการคุณภาพผลผลิต โดยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ตั้งจุดตรวจสอบสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพเข้าสู่ตลาด มาตรการที่ 2 กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต โดยการเพิ่มศักยภาพในการขนส่งผลไม้และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาด ให้แก่สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายผลผลิตไม้ผลสู่ตลาดปลายทาง ทั้งตลาดภายในประเทศ ตลาดประเทศเพื่อนบ้านในประเทศกัมพูชา การชะลอผลผลิตเงาะเข้าสู่ตลาด และการเสริมสภาพคล่องในการซื้อขายผลไม้ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าผลผลิตนั้นต้องมีคุณภาพ และสถานการ์ณราคาจำหน่ายไม่สูงกว่าที่เกณฑ์ที่กำหนด
มาตรการที่ 3 ส่งเสริมการแปรรูปมังคุดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการสนับสนุนเงินทุนสินเชื่อ ให้แก่วิสาหกิจชุมชน จ.จันทบุรี รวม 10 กลุ่ม ในการแปรรูปมังคุดเกรดรอง และมาตรการที่ 4 ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ ประกอบด้วย ประชาสัมพันธ์รณรงค์ และส่งเสริมบริโภคผลไม้ผ่านสื่อต่างๆ ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ และในต่างประเทศ
ส่วนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาลิ้นจี่ตกต่ำในพื้นที่ภาคเหนือ จะดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา และน่าน เพื่อกระจายผลผลิตส่วนเกินออกนอกแหล่งผลิตเพื่อป้องกันผลกระทบด้านราคา จำนวน 6,360 ตัน โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก คชก.รวม 20 ล้านบาท ดำเนินการใน 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต และมาตรการที่ 2 ประชาสัมพันธ์และเสริมการบริโภคลิ้นจี่ ประกอบด้วย การจัดงานส่งเสริมการบริโภคลิ้นจี่ และสร้างเครือข่ายการตลาดในจังหวัดปลายทางและการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และส่งเสริมบริโภคผ่านสื่อมวลชน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) เพื่อพิจารณาขออนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป