"ณรงค์ชัย"มองเงินไหลเข้ายังไม่น่าห่วง/คลัง ศึกษามาตรการภาษีหนุนเอกชนนำเงินไปลงทุนตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2013 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวในการสัมมนา MFC Finance Forum ครั้งที่ 12 เรื่อง "การลงทุนในสภาวะเงินท่วมโลก"ว่า ขณะนี้มีเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นจำนวนไม่มากหรือยังไม่ถึงกับท่วมโลกตามที่หลายฝ่ายกังวล โดยต่างชาติยังมองว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทำได้ดีในสายตาของต่างชาติจึงเกิดความเชื่อมั่นนำเงินเข้ามาลงทุน

โดยเงินทุนของธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น อัดฉีดออกสู่ระบบเพื่อซื้อสินทรัพย์จากภาคเอกชนจำนวน 7.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ส่วนใหญ่ได้กลับเข้าไปฝากกับธนาคารกลางทั้งสามประเทศทั้งสิ้น และมีบางส่วนที่ไหลออกไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับการไหลเข้ามายังไทยยังมองว่าไม่สูงเกินไปจนน่าห่วง โดยเฉพาะการไหลเข้ามาเพื่อลงทุนในระยะยาว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีควรต้อนรับ แต่ควรจับตาดูการไหลเข้ามาเพื่อลงทุนเก็งกำไรในระยะสั้น สำหรับเงินทุนที่ไหลเข้ามาในขณะนี้ไม่น่ากระทบให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะ ธปท.ได้ส่งสัญญาณไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ระวังการปล่อยกู้ และการเก็งกำไรในตลาดหุ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ดึงเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนผ่าน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพราะการกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรอายุ 10-15 ปี ให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3 ยังไม่ถือว่าต่ำและยังจะได้รับความสนใจจากเงินทุนต่างชาติ เพราะการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลอายุน้อยกว่า 15 ปี ถือว่ายังมีระดับไม่สูงนัก แม้รัฐบาลต้องการให้กู้เงินภายในประเทศเป็นหลัก แต่การกู้เงินต่างประเทศบางส่วนจะช่วยบริหารเงินทุนไหลเข้าได้ดีขึ้น

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ควรใช้โอกาสนี้นำเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในโครงการลงทุนระยะยาว เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว เงินทุนเหล่านี้จะไหลกลับไปหาผลตอบแทนยังประเทศของตัวเอง ขณะเดียวกันอีกด้านได้พยายามส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ นำเข้าสินค้าทุนในช่วงเงินบาทแข็งค่า หรือบริษัทเอกชน นักลงทุนรายย่อย ได้ทยอยนำเงินทุนออกไปชำระหนี้ ออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันจากเงินต่างประเทศไหลเข้ามา ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนให้เอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ และต้องกลับมาดูว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศน้อย เช่น การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ ธปท.ก็มีแนวทางผ่อนปรนให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาษีเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เพื่อนำผลตอบแทนกลับเข้ามาในประเทศ ทำให้ภาคเอกชนเสียภาษีซ้ำซ้อน คาดว่าจะออกมาตรการได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และมองว่าหาก ธปท.ยังแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง อาจประสบปัญหาขาดทุนไม่มีจุดจบ เพราะกระทรวงการคลังยังมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีช่องว่างให้ปรับลดลงได้อีก เพื่อลดแรงเงินทุนไหลเข้า อีกทั้งมองว่าสุดท้ายคงต้องออกมาตรการมาควบคุมการไหลเข้าของเงินทุน แต่ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้

สำหรับกระทรวงการคลังได้มีการพิจารณาและกำหนดแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยขณะนี้ สศค.ร่วมกับกรมสรรพกร ได้ทำการศึกษาถึงอุปสรรคด้านภาษีที่เอกชนเสนอมาว่ามีอะไรบ้าง และต้องมาพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ถ้าจะลดภาษีลงอีก ถ้าพิจารณาแล้วไม่เพียงพอก็จะใช้เวลา 3 เดือน ในการพิจารณาและเสนอต่อภาครัฐ เนื่องด้วยปัจจุบันได้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงแล้ว จาก 30% มาเป็น 20% ถือว่ามากพอสมควรอยู่แล้ว หรือควรจะออกมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับ สิงค์โปร มาเลเซียได้แทน ทั้งนี้ถ้าจะมีการออกมาตรการหรือลดภาษีดังกล่าวก็จะเป็นมาตรการที่ควบคุมทั่วไป

ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นฐานของตลาดหุ้นไทยยังมีความเข้มแข็ง ดังนั้นไม่น่ากังวลมากนัก หากสหรัฐฯ ยุโรป หยุดการออกมาตรการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบและเกิดปัญหาเงินทุนไหลกลับเหมือนกับในช่วงไทยมีปัญหาการเมือง จนทำให้เงินทุนไหลออกถึง 68,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่าหุ้นบางตัวราคาปรับสูงขึ้นเกินจริง นักลงทุนจึงควรระวัง เนื่องจากค่า P/E(ราคาต่อผลตอบแทน) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 15-16 เท่า ขณะที่ค่า P/E ของหุ้นบางตัวปรับสูงมาก จากเดิมค่า P/E เกิน 40 เท่า มีอยู่ 24 ตัว มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ได้ปรับสูงขึ้นมาถึง 71 ตัว มูลค่าสูงถึง 580,000 ล้านบาท ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องกลับไปดูพื้นฐานหุ้นเหล่านี้ให้ชัดเจน เพราะค่า P/E สูงๆ นั้นเป็นการมองแผนอนาคตว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้าบริษัทที่เข้าไปลงทุนต้องปรับปรุงครั้งใหญ่มีการเติบโตมากกว่า 30% โดยต้องปรับภาพลักษณ์ ผลิตภัณฑ์แทนพลิกกลยุทธ์ หุ้นดังกล่าวมีแผนเช่นนี้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบตามมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ