TDRI เปิดผลศึกษาปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลไทย แนะปรับปรุงกติกาให้ปรับตัวตามตลาดได้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 5, 2013 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดงานวิจัย เสนอแนวทางการปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย โดยในส่วนข้อเสนอสำหรับตลาดน้ำตาลภายในประเทศ ให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาลและหันมาควบคุมปริมาณแทน—เมื่อรัฐเลิกควบคุมราคาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลหายไปจากตลาดอีกต่อไป และถ้ารัฐควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร (แต่ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีพฤติกรรมการตั้งราคาแบบผูกขาดนั้น มาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะจะไม่คุ้มที่จะนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาแข่ง)

สำหรับข้อเสนอในการกำหนดราคาอ้อยและการปรับบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในด้านการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อย ให้ใช้สูตรกำหนดราคาอ้อยราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ— โดยกำหนดค่าประสิทธิภาพมาตรฐานสำหรับทุกโรงงาน และราคาอ้อยคิดตามความหวาน (CCS) ล้วนๆ, ยึดตัวเลขส่วนแบ่งเดิมคือ 70:30— แต่ปรับวิธีการคำนวณที่ทำให้ชาวไร่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยคำนวณรายรับจากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวอย่างละครึ่ง และคิดมูลค่าของกากน้ำตาล (โมลาส) เพิ่มอีกร้อยละ 8 ของราคาน้ำตาล, กำหนดกติกาการเก็บเงินเข้าและจ่ายเงินออกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาล เพื่อให้สามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพได้จริง— เปลี่ยนกติกาการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย รวมทั้งกติกาการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ทั้งจากชาวไร่และโรงงาน เพื่อให้มีหลักประกันว่าในปีที่น้ำตาลราคาดีจะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ใช่ต้องใช้วิธีไปกู้เงินทุกครั้งที่ต้องใช้เงินดังเช่นที่ผ่านมา

ส่วนข้อเสนอด้านองค์กรและกฎหมาย — ปรับองค์กรให้สอดคล้องกับข้อเสนอสามด้านแรก ดังนี้ ในระดับกรรมการ— โอนอำนาจของคณะกรรมการอ้อยไปให้คณะกรรมการบริหาร (เนื่องจากไม่มีนโยบายจำกัดการปลูกอ้อยดังเช่นในอดีต)และให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายทำหน้าที่กำหนดโควต้าน้ำตาลภายในประเทศทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบใหม่ คือ ลดการควบคุมและเพิ่มความคล่องตัว, บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) —ทำราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เพิ่มอีกปีละ 4 แสนตัน, บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ —ให้เลิกควบคุมราคาแต่หันมาดูแลไม่ให้มีการผูกขาดหรือฮั้วราคาของกลุ่มผู้ผลิต, กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย —แยกบัญชีเป็นกองทุนย่อยสำหรับรักษาเสถียรภาพโดยเฉพาะ โดยห้ามนำเงินส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่น, ตั้งสถาบันวิจัยอ้อยน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง—เพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน, ศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย—พัฒนาระบบการวัดค่าความหวานของอ้อย (ค่า CCS) ให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น

แม้ว่าการปรับระบบตามข้อเสนอชุดนี้สามารถทำได้ทุกข้อภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พศ.2527 แต่ทีมวิจัยได้ยกร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ ฉบับใหม่เพื่อเป็นหลักประกันให้มีการดำเนินการตามข้อเสนออย่างคงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมาตามดุลยพินิจของผู้บริหารโดย พ.ร.บ.ใหม่จะช่วยลดความคลุมเครือและกำหนดกติกาและแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น เช่น การกำหนดกติกาการซื้อขายและสูตรการคำนวณราคาอ้อยการแยกบัญชีกองทุนย่อยออกมาเพื่อทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบ และการกำหนดกติกาการควบคุมของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมที่ไม่จำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศและหันมาควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ