พร้อมกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยขณะนี้มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งและธรรมาภิบาล และยึดหลักนิติรัฐ และคาดว่าปีนี้ GDP จะเติบโตร้อยละ 6.4 เศรษฐกิจจะโตประมาณร้อยละ 5.5 รวมทั้งไทยมีศักยภาพด้านที่ตั้งที่สามารถเป็นประตูสู่ภูมิภาคของ EU และ ASEAN อีกทั้งรัฐบาลมีแผนการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 66,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ครอบลุมการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่ง, โทรคมนาคม และพลังงาน ซึ่งจะสร้างโอกาสการลงุทนใหม่ๆ และพัฒนาศักยภาพของไทยในการแข่งขัน
ด้านนายกรัฐมนตรีเบลเยียมได้ชื่นชมการเติบโตที่เข้มแข็งและภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และชื่นชมที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุติการค้างาช้าง และต้องการเห็นการลงทุนจากประเทศไทยในสาขาต่างๆ ในอนาคตที่กว้างขวางขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยไทยและเบลเยียมจะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวและไปมาหาสู่ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวเบลเยียมเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ(Medical Tourism) เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพอีกทางเลือกหนึ่ง ด้วยคุณภาพด้านการแพทย์ที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติได้รับการยอมรับด้านบริการทางการแพทย์ที่ดีด้วยราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับยุโรปและภูมิภาค
ในด้านการท่องเที่ยว บริษัทการบินไทยได้เพิ่มเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ จาก 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ เป็น 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเบลเยียมเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นทุกปี ในปัจจุบันการบินไทยได้มีการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ และบรัสเซลส์ และได้มีการวางแผนให้บรัสเซลส์เป็นจุดเชื่อมต่อในการบินไปยังภูมิภาคอื่น คือ ยุโรป, อเมริกาเหนือ และแอฟริกา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและการติดต่อธุรกิจ
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่กันทั้งในลักษณะการท่องเที่ยวหรือทางธุรกิจ ไทยขอให้เบลเยียมพิจารณาให้ผู้ถือพาสปอร์ตแบบธรรมดาของไทยได้รับการงดเว้นวีซ่าเมื่อเข้าสู่พื้นที่ประเทศแชงเก้นด้วย
ความร่วมมือด้านถ่ายทอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ ไทยและเบลเยียมเห็นพ้องให้มีการแลกเปลี่ยนในสาขาการแพทย์ ความปลอดภัยทางอาหาร เทคโนโลยีนาโน นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาระดับสูง และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
ส่วนประเด็นภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองแลกปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจของ EU และของโลก ซึ่งภูมิภาคยุโรปถือว่าได้รับการฟื้นฟูแล้ว และจะมีความเข้มแข็งในอนาคตอันใกล้ โดยไทยยืนยันสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมการเติบโต การสร้างงาน และประโยชน์ร่วมกันต่อไป