ขณะที่ภัยแล้งภาคอีสานนั้นเข้าขั้นวิกฤตกว่า มีปริมาตรน้ำใช้การเพียงร้อยละ 13.1 ลดจากอดีตที่ร้อยละ 31.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบสิบปี ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะต้องบริหารจัดการให้เพียงพอกับฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แต่หากฝนทิ้งช่วงในต้นฤดูฝน จะยิ่งทำให้วิกฤติภัยแล้งรุนแรงขึ้นอีก
ผลของภัยแล้งที่ขยายพื้นที่กว้างขึ้นพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 4 ล้านไร่ โดยกว่าร้อยละ 95 เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)คาดว่าปริมาณข้าวนาปรังที่จะเข้าโครงการรับจำนำลดลงจากที่ประมาณการณ์ไว้ 11 ล้านตัน เหลือเพียง 7-8 ล้านตันเท่านั้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศงดการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ในเขตพื้นที่ชลประทาน เพราะปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอ แต่ปรากฏว่าพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากลับสูงกว่าแผนเดิมกว่า 0.92 ล้านไร่ จากที่กำหนดไว้ 5.40 ล้านไร่
หากศึกษาเทียบกับผลกระทบของวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ในปี 2548 มีพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบกว่า 13.7 ล้านไร่ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรของไทย หดตัวร้อยละ 2.7 โดยภาคเหนือและภาคอีสาน หดตัวร้อยละ 4.8 และ 2.8 และเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด เฉพาะภาคเกษตรพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงในภาคเหนือ คือ สุโขทัย ตาก และแพร่ มีการหดตัวร้อยละ 17.0, 13.6 และ 13.0 ส่วนในภาคอีสานพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ อุดรธานี มุกดาหาร นครราชสีมา ชัยภูมิ ซึ่งตัวเลขหดตัวเกินกว่าร้อยละ 10.0 จากปีก่อน การหดตัวดังกล่าวเกิดจากรายได้ของเกษตรลดลงเนื่องจากไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตตกต่ำเนื่องจากขาดน้ำ รวมถึงการระบาดของโรคและแมลงต่างๆในช่วงที่เกิดภัยแล้ง โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่เกิดภัยแล้งซ้ำซาก และคาดว่าหากฝนยังคงทิ้งช่วงในต้นฤดูฝน อาจทำให้บางจังหวัดที่กล่าวมาแล้วได้รับผลกระทบสูงกว่าวิกฤติภัยแล้ง 2548 เพราะปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้เหลือน้อยกว่าในปี 2548 ค่อนข้างมาก
แนวทางป้องกันความเสียหายสำหรับเกษตรกรและประชาชน คือ การงดปลูกพืชตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่เพียงเพราะเพื่อประหยัดน้ำ แต่เป็นการลดความเสียหายจากภัยแล้งที่อาจจะได้รับ สำรองน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และภาครัฐควรมีแผนหรือมาตรการระยะสั้นสำหรับภัยแล้งฉับพลันที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที อีกทั้งหาทางแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งระยะยาว โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อบรรเทาความเสียหายและสามารถใช้พื้นที่ในการเกษตรได้ในฤดูแล้ง