ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) สองสถาบันการเงินระดับประเทศและภูมิภาคซึ่งมีความสำคัญในเวทีโลก กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญพร้อมๆกัน นั่นคือการเปลี่ยนตัวผู้นำองค์กรคนใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อตัวองค์กรเองแล้ว ยังส่งอิทธิพลไปถึงอนาคตของเศรษฐกิจและการเงินญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคเอเชียในภาพรวมด้วย
แบงก์ชาติญี่ปุ่นผลัดใบ
ธนาคารกลางญี่ปุ่นจำเป็นต้องสรรหาผู้นำคนใหม่หลังจากที่นายมาซาอากิ ชิรากาวะ ผู้ว่าการคนปัจจุบัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 เมษายน นายชิรากาวะยืนยันว่าเป็นการลงจากตำแหน่งด้วยความสมัครใจ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเพราะถูกนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ กดดัน เนื่องจากผู้นำญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้นายชิรากาวะและบีโอเจใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกเพื่อจัดการกับปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรังมานาน
นายอาเบะกล่าวว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนต่อไปที่จะมาทำหน้าที่แทนนายชิรากาวะ ควรจะเป็นบุคคลที่มีแนวคิดเชิงรุกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ใช้นโยบายเงินตราได้อย่างเด็ดเดี่ยว และควรมีความสามารถในการเจรจากับบรรดาผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศอื่นๆ
“ฮารุฮิโกะ คุโรดะ" ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ผู้ซึ่งสนับสนุนแผนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของนายอาเบะ และมีสายสัมพันธ์กว้างขวางในระดับนานาชาติจากการดำรงตำแหน่งประธานเอดีบีถึง 3 สมัย จึงเป็นผู้ที่รัฐบาลตัดสินใจเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนใหม่แทนนายชิรากาวะ โดยรัฐบาลกำลังผลักดันให้สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงเพื่อแต่งตั้งผู้ว่าบีโอเจคนใหม่ในวันที่ 14 มีนาคม และให้สภาสูงหรือวุฒิสภาลงคะแนนเสียงในวันที่ 15 มีนาคมนี้
ลุ้นเกมการเมืองพ่นพิษ
นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ วัย 68 ปี เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติในอุดมคติสำหรับนายอาเบะ เพราะนอกจากจะมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันแล้ว นายคุโรดะยังมีประสบการณ์โชกโชน เขาเข้าทำงานในกระทรวงการคลังญี่ปุ่นในปีพ.ศ.2510 จนกระทั่งในปีพ.ศ.2542 จึงก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ก่อนจะดำรงตำแหน่งประธานเอดีบีในปีพ.ศ.2548
ประสบการณ์และความสามารถของนายคุโรดะทำให้ญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดหากเขาได้เป็นผู้ว่าการบีโอเจ แต่เส้นทางเดินของเขาอาจไมได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะสภาสูงหรือวุฒิสภาที่มีพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากอยู่นั้น อาจเล่นเกมการเมืองและปฏิเสธที่จะรับรองนายคุโรดะ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในตำแหน่งผู้นำบีโอเจซ้ำรอยกับเมื่อพ.ศ.2551 และแม้มีกระแสข่าวว่าพรรคฝ่ายค้านจะสนับสนุนนายอาบะในเรื่องนี้ แต่ความกังวลก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว
อนาคตบีโอเจภายใต้ปีกคุโรดะ
นายคุโรดะกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ เพื่อจัดการกับภาวะเงินฝืดภายในประเทศ และบีโอเจควรพยายามเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ชัดว่านายคุโรดะและนายอาเบะมีความคิดที่สอดคล้องกันในเรื่องการใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อจัดการปัญหาเงินฝืด ดังนั้นหากนายคุโรดะผ่านการรับรองจากทั้ง 2 สภา อนาคตของบีโอเจและประเทศญี่ปุ่นก็น่าจะสดใสขึ้น เพราะรัฐบาลและแบงก์ชาติจะทำงานสอดประสานกันมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนายคุโรดะคนนี้อาจเป็นผู้ที่ทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานกว่าทศวรรษได้
แรงสั่นสะเทือนถึงเอดีบี
เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอชื่อนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ นายคุโรดะจึงยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) โดยจะมีผลในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ทางเอดีบีจึงต้องสรรหาผู้นำคนใหม่มาบริหารองค์กรเช่นเดียวกัน โดยบอร์ดผู้ว่าการของเอดีบีจะทำหน้าที่คัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนนายคุโรดะ
นายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มคัดเลือกผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้อำนวยการเอดีบีคนต่อไปทันทีที่ประธานเอดีบีคนปัจจุบันลงจากตำแหน่งในวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งนายอาโสะกล่าวว่า รัฐบาลจะเลือกคนที่มีความสามารถ และ “ทาเคฮิโกะ นากาโอะ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ก็มีคุณสมบัติเหมาะสม
นายนากาโอะ วัย 56 ปี จบการศึกษา MBA จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และเข้าทำงานในกระทรวงการคลังตั้งแต่ปีพ.ศ.2521 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2554
ตำแหน่งที่ผูกขาดมาเกือบครึ่งศตวรรษ
นับตั้งแต่เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2509 ประธานเอดีบีจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติญี่ปุ่นมาโดยตลอด เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนการเงินรายใหญ่สุดให้กับเอดีบีจึงมีอำนาจโหวตสูงสุด เท่ากับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินรายใหญ่สุดอีกราย
ในอดีตการเลือกประธานเอดีบีไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากนัก เพราะอย่างไรเสียญี่ปุ่นก็ผูกขาดตำแหน่ง แต่ในครั้งนี้สถานการณ์อาจแตกต่างไป เนื่องจากญี่ปุ่นเสียตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกให้จีนไปเมื่อปีพ.ศ.2553 ขณะที่จีนก็แผ่อิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาค ทำให้สมดุลอำนาจในเอเชียเปลี่ยนไป ทั่วโลกจึงจับตาดูว่าจีนจะส่งผู้ลงชิงตำแหน่งประธานเอดีบีด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี กฎการโหวตของเอดีบีค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้ญี่ปุ่น โดยผู้ชิงตำแหน่งประธานต้องได้รับเสียงโหวตจากชาติสมาชิกรวมกันเกิน 50% ซึ่งญี่ปุ่น สหรัฐ ประเทศกลุ่มยูโรโซน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็มีอำนาจโหวตรวมกัน 50.6% แล้ว นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังส่งสัญญาณว่าจะสนับสนุนญี่ปุ่นด้วย
นายมาซาฮิโระ คาวาอิ คณบดีสถาบันธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียในกรุงโตเกียว กล่าวว่า จีนยังได้รับการสนับสนุนไม่เพียงพอ ขณะที่สหรัฐซึ่งมีอำนาจเท่ากับญี่ปุ่นก็ไม่ต้องการตำแหน่งประธานเอดีบี ดังนั้นตัวแทนจากญี่ปุ่นจึงน่าจะได้ครองตำแหน่งประธานเอดีบีต่อไปอย่างไม่ยากเย็น
ญี่ปุ่นแสดงความหวังว่าการโหวตเลือกประธานเอดีบีคนใหม่จะจัดขึ้นก่อนการประชุมประจำปีที่กรุงนิวเดลีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ประธานคนใหม่จะได้เป็นผู้ดูแลการประชุมนี้ ดังนั้นอีกไม่เกิน 2 เดือนเราน่าจะได้ทราบผลแล้วว่า ญี่ปุ่นจะได้กุมบังเหียนสถาบันการเงินแห่งนี้ต่อไป หรือขั้วอำนาจจะพลิกไปสู่ประเทศอื่น