รมว.พลังงาน ยันไฟไม่ดับช่วงพม่าหยุดจ่ายก๊าซ-Ft ไม่ขึ้น หลังมีปริมาณสำรองเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2013 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับหน่วยภาครัฐ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า จากความร่วมมือในการลดใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าในเดือนเม.ย.นี้ จะไม่มีปัญหาไฟดับ โดยที่ค่าเอฟทีจะไม่เพิ่มขึ้น

ในส่วนกนอ. แจ้งว่าได้รับความร่วมมือจาก 19 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในการลดและปรับแผนการผลิต ในวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สำรองไฟฟ้าของประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้รวม 83 เมกะวัตต์ ขณะที่ ส.อ.ท. ได้ประสานกลุ่มอุตสาหกรรม 13 กลุ่ม ลดใช้ไฟฟ่าลงได้ 408 เมกะวัตต์ ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลงรวม 547 เมกะวัตต์ เมื่อรวมการผลิตเพิ่มของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ผลิตเพิ่มได้ 110 เมกะวัตต์ จะทำให้สำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,424 เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขนี้ ยังไม่รวมห้างสรรพสินค้าและภาคประชาชน ที่คาดว่า จะลดได้อีก 250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าพร้อมใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,674 เมกะวัตต์ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงถึง 15 บาทต่อหน่วย

"เมื่อมีไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้นเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย เนื่องจากมีราคาแพง"รมว.พลังงาน กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้สามารถบริหารการใช้เชื้อเพลิงได้ โดยลดการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (Ft) ถูกลง

อย่างไรก็ตาม การหยุดผลิตชั่วคราวของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ ทำให้สายส่งต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปัญหาแรงดันต่ำ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้า จะเป็นผู้ดูแลสายส่งให้มีเสถียภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาไฟตกแน่นอน

ด้านพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมจะลดใช้ไฟฟ้าทุกระบบ เช่น ระบบอากาศอัด หรือ คอมเพรสเซอร์ และใช้อุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ รวมทั้งสามารถหยุดเครื่องจักรที่ไม่สำคัญบางประเภท เช่น โรงปูนซิเมนต์ ที่จะลดใช้ไฟของตัวหม้อบดดินได้ ซึ่งจะไม่ส่งผลเสียหายต่อระบบผลิต

ส่วนภาคยานยนต์ทุกค่าย ตั้งใจจะช่วยลดการใช้ไฟ แต่เนื่องจากมีซัพพลายเชนมาก จึงต้องใช้เวลาวางแผนในการลดการใช้ไฟฟ้าซึ่งเชื่อว่าจะลดได้มากกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ