ทั้งนี้เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) เป็นกรอบความตกลงที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษสูงสุด ด้วยมูลค่า 14,793 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย FTA อาเซียน-จีน มีมูลค่าการใช้สิทธิ 11,287 ล้านดอลลาร์, FTA ไทย-อินเดีย 696 ล้านดอลลาร์, FTA ไทย-ออสเตรเลีย 4,857 ล้านดอลลาร์, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) 6,254 ล้านดอลลาร์
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษ FTA ได้เต็มที่ อาจเป็นเพราะยังไม่สามารถผลิตสินค้าให้เป็นไปตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ไทยได้ทำความตกลงไว้กับประเทศคู่ภาคีได้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย เนื่องจากต้องนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีความตกลงมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ซึ่งแนวทางแก้ไขนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวและใช้วัตถุดิบจากประเทศคู่ค้าที่ทำความตกลงกับไทย เพื่อให้สามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้
"การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เป็นปัจจัยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(SMEs) ที่ยังมีข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ หากต้องเผชิญกับอัตราภาษีปกติ ที่สำคัญสิทธิพิเศษที่ได้จาก FTA ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าไทย และช่วยขยายโอกาสการประกอบธุรกิจของไทยในต่างประเทศด้วย" นายสุรศักดิ์ กล่าว