ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 74.3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 75.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 102.2
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.พ.56 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และปรับตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.54 แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ(100) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสการหางานทำ และรายได้ในอนาคต
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู่บริโภคในเดือนนี้ ได้แก่ สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 4/55 โตถึง 18.9% ซึ่งขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์,คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75%,การส่งออกในเดือนม.ค.56 ขยายตัวได้ 16.1%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น, การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศ และ การใช้จ่ายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, ความกังวลต่อวิกฤติไฟฟ้าในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย.56 ที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซให้ไทย, ความกังวลต่อภาวะเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็ว, ผู้บริโภควิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง
นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนจะขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งรายได้ของประชาชนยังสูงขึ้นตามนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ นโยบายการจำนำข้าว การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่างๆ
ทั้งนี้ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ารัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น จะเป็นแรงพยุงที่สำคัญเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยผันผวนตามเศรษฐกิจโลก