คลัง ชี้ก่อหนี้ 2 ล้านลบ.ลงทุนโครงสร้างพฐ.สร้างมูลค่า-ยกระดับคุณภาพชีวิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 8, 2013 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นก้าวสำคัญของไทยในการพัฒนาประเทศไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้มีการผลักดันในโครงการต่างๆที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งได้แก่ การขนส่งระบบราง ทางน้ำ และอากาศ ต้องเป็นระบบหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบอื่นๆจะเป็นจุดเชื่อมโยงเข้าไประบบหลักเหล่านั้น เพื่อความคล่องตัวในการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รมว.คลัง ยืนยันว่า การกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะมากขึ้น เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำที่ 45% ของ GDP และหลังกู้เงินมาแล้วจะพยายามรักษาระดับหนี้สาธารณะให้ไม่เกิน 50-60% ของGDP

"การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะมากนัก เนื่องจากหนี้สาธารณะในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำ 45% ของ GDP แต่การกู้เงินนั้นก็จะพยายามรักษาระดับหนี้สาธารณะให้ไม่เกิน 50-60% ของGDP นอกจากนี้ก็มีโครงการในเครือข่ายอื่นๆที่ได้รับการพิจารณามากกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่อาจทำให้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกังวลว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มมากขึ้น จึงเน้นลงทุนในโครงการที่มีความจำเป็นไปก่อน โดยโครงการต่างๆที่ลงทุนไปต้องมีความลงตัวกันเป็นอย่างยิ่ง" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย ซึ่งการกู้เงินมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แม้จะก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่เป็นหนี้ที่สร้างมูลค่าและรายได้ตอบแทนเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

"ปัจจุบันไทยถูกจัดอันดับในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อันดับที่ 49 ขณะที่มาเลเซียอยู่อันดับที่ 22 แสดงให้เห็นว่าไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับที่ต่ำ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในด้านต้นทุนการขนส่งหรือโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าที่นำไปขายมีราคาที่แพง เสียโอกาสด้านความสามารถทางการแข่งขัน ประกอบกับการขนส่งในระบบรางของประเทศยังไม่มีการพัฒนาเป็นอย่างดี รถไฟไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ รถไฟฟ้าที่ใช้อยู่มีอยู่แค่ภายในเมืองทำให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย ถึงแม้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจะก่อให้เกิดหนี้ แต่หนี้ที่เกิดขึ้นนั้นจะสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชนให้ดียิ่งขึ้น"นายประสงค์ กล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.)กล่าวว่า การที่ไทยประกาศการผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้เป็นการยกระดับประเทศครั้งสำคัญ โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยมีการเติบโตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ จากในอดีตที่ผ่านมามีการลงทุนขนาดใหญ่ 2 ครั้ง คือ การสร้างถนนมิตรตภาพและการสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยการลงทุนครั้งนี้เป็นการยกระดับประเทศครั้งสำคัญ ทำให้อนาคตของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เป็นการช่วยกันผลักดันการเติบโตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน หากไทยไม่พัฒนาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็จะเป็นการไปขัดขวางการเจริญเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีการติดต่อค้าขายไม่สะดวก และไทยจะเป็นผู้เสียประโยชน์อีกด้วย"นายคณิศ กล่าว

นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการต่างๆได้ภายในภายปี 56 และการลงทุนจะสามารถทำให้ประเทศไทยมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.5-1% ต่อปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหยุดชะงักมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและแผนที่นำมาเสนอนั้นยังไม่มีความเหมาะสมในการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ