(เพิ่มเติม1) รัฐบาลคาดนำร่าง พ.ร.บ.กู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านลบ.เข้าครม.สัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2013 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่า จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านลบ. เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า(19 มี.ค.) หลังจากที่ในวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการทบทวนความชัดเจนโครงการที่สามารถทำได้จริง

นายวราเทพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาทมาหารือในวันนี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ตรวจสอบความพร้อมการลงทุนในแต่ละโครงการ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ

สำหรับรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการสำคัญต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง, โครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง, โครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งการประชุมวันนี้เป็นการเน้นย้ำการตรวจสอบหลักการร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้มีการพิจารณาหลักการและเหตุผลในการที่จะกู้เงินในครั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดเตรียมการออก พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท มีความคืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว เหลือเพียงบางโครงการที่อาจจำเป็นต้องเขียนเป็นกรอบกว้างๆ ไว้ เพราะอาจติดขัดในเรื่องการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หรืออาจเกิดปัญหาการคัดค้านจากประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนให้รอบคอบ ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ในวันอังคารที่ 19 มี.ค.นี้ แต่โครงการที่สำคัญๆ ก็จะมีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.นี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้ารางคู่ หรือรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง

ทั้งนี้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะที่กระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ให้ข้อมูล โดยมีบางโครงการต้องจัดทำ EIA อย่างรอบด้าน ซึ่งโครงการเหล่านี้จะต้องเขียนโครงการแบบกว้างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อกฎหมาย ส่วนโครงการใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีความชัดเจนในการลงทุนแล้วก็จะเริ่มดำเนินการตามกรอบทันที หาก พ.ร.บ ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และโครงการส่วนใหญ่รัฐจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางนั้น คาดว่า สายที่มุ่งหน้าไปฉะเชิงเทราจะเป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกที่สามารถให้บริการได้ภายในปี 2561 โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนเส้นพิษณุโลกน่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 ส่วนการเปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมลงทุนในเรื่องของตัวรถไฟนั้นได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ซึ่งคงจะมีการแข่งขันโดยเน้นตัวเทคโนโลยีเป็นหลัก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งบริษัมเข้ามาดูแลในเรื่องของระบบรางขึ้นมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ