นอกจากนั้น หากพิจารณาการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เฉลี่ยซื้อสุทธิราว 2 พันล้านบาท/วัน ถือว่าต่างชาติกระจายการลงทุนไปทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนไทยเองก็ออกไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเช่นกัน
แต่สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น นายทนง มองว่า น่าเป็นห่วง เพราะราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเกิดปัญหาฟองสบู่ในระยะยาวได้ โดยพบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายลงทุนของต่างชาติว่ามีเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการไซฟ่อนเงิน โดยเฉพาะจากกลุ่มเศรษฐีใหม่ของจีน รวมถึงเงินลงทุนจากสิงคโปร์ที่มองราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 10 เท่า
ดังนั้น มองว่าการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยในขณะนี้เป็นการเติบโตที่ฝืนธรรมชาติ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะยังติดตามการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่นำมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อได้ ไม่เฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย อย่างเช่นการกำกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ด้วยการเพิ่มสำรองให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่ 8.5% อาจเพิ่มเป็น 15-20%
"หากจะป้องกันฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจต้องใช้มาตรการมากขึ้นกว่าที่จีนทำอยู่ เพื่อชะลอปัญหา แบงก์ชาติสามารถทำได้เลย เพราะมีกฎหมายที่เปิดทางไว้ แม้ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่รุนแรง"นายทนง กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายทนง ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้บริหาร ธปท.บางคนมีความกังวลการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลที่มองว่าเป็นสัญญาณการใช้จ่ายเกินตัวที่เป็นผลจากโครงการรถคันแรก เพราะเชื่อว่าไม่ใช่สัญณาณลบ แต่ถือเป็นการลงทุนที่ถูกต้อง เพราะประชาชนสามารถประหยัดเงินในการซื้อรถยนต์ได้ถึง 6-8 หมื่นบาท/คัน และแม้ว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระได้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก เพราะสามารถนำรถยนต์ไปขายต่อได้
นายทนง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 5% แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐที่ยังไม่แน่นอนและอาจกระทบกับภาคการส่งออกของไทยได้ ซึ่งมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมกันอยู่ที่ 140% ของ GDP ดังนั้น ธปท.จะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นกลไลที่ช่วยให้การส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
ส่วน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น นายทนง กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญและวางเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศมากกว่าที่จะอัดฉีดเม็ดเงินหรือใช้ประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะแม้ในช่วง 2 ปีนี้เศรษฐกิจอาจจะยังเติบโตได้จากการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาล แต่จะเป็นความเสี่ยงในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หาจุดยืนของไทยในอาเซียน เพราะขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มวางยุทธศาสตร์เชิงรุกให้มากขึ้นแล้ว เช่น มาเลเซีย
"ตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี และยังมีหนี้นอกงบประมาณอีกที่อาจทำให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะใช้ทำอะไร และความสามารถในการชำระหนี้อยู่ตรงไหน สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เสียภาษี...รัฐบาลอัดฉีดเงินทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดหุ้นดีขึ้น ช่วง 1-2 ปีเศรษฐกิจยังสดใสในระยะสั้น แต่ในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าไทยจะแข่งขันอย่างไร ควรที่จะเริ่มคิด"นายทนง กล่าว