"ผู้นำทั้งสองมีการพบกันแล้วในหลายโอกาส และหารือทวิภาคีกันแล้วช่วงประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ(JCR) เมื่อ 27 ตุลาคม 2555...มีการกล่าวถึงเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" นายสุรนันทน์ กล่าว
โดยไทย-เวียดนามมีกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนความสัมพันธ์อยู่หลายอย่าง เช่น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า(JTC), การประชุม Joint Working Group on Political and Security Cooperation(JWG on PSC) และการประชุม Political Consultation Group(PCG) ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ(JCR) ครั้งที่ผ่านมา ไทย-เวียดนามเห็นว่าจะต้องเร่งผลักดันความร่วมมือสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม และวัฒนธรรม โดยรัฐบาลเวียดนามได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่เอาใจใส่สร้างความสัมพันธ์และผลักดันให้มีการปฏิบัติตามแนวนโยบายที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
สำหรับการพบหารือครั้งนี้ผู้นำทั้งสองได้ใช้โอกาสนี้ติดตามความคืบหน้าผลการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม(JCR) ครั้งที่ผ่านมา ได้สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นและจริงจังของไทยที่จะสานต่อความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งในช่วงปลายสัปดาห์นี้เจ้าหน้าที่อาวุโสของสองประเทศจะร่วมหารือกัน เพื่อเตรียมเนื้อหาสาระในด้านต่างๆ ในส่วนของไทยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในหลายประเด็น อาทิ การรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม(JCBC) ที่มีรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเป็นกรรมาธิการร่วม และไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพ JCBC ครั้งแรกกลางปีนี้ ซึ่งนับเป็นกลไกหลักเพื่อหารือภาพรวมความสัมพันธ์ ในช่วงกลางปีนี้
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เห็นว่า การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างไทยและเวียดนาม แม้จะมีการขยายตัวที่ดีแต่ยังไม่เต็มศักยภาพ จึงเห็นว่าต้องช่วยกันพัฒนา ส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเวียดนามจะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยขยายการลงทุนในเวียดนาม และการใช้ประโยชน์จากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ด้านการค้าการลงทุน จะเร่งพิจารณาแผนปฏิบัติการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ซึ่งไทยเสนอระหว่างการประชุม JCR ในครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตั้งสภาธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนของไทยได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-เวียดนามแล้ว
ความร่วมมือเรื่องยางพารา ไทยได้ขอบคุณที่เวียดนามได้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการประชุมสภาไตรภาคียางพาราที่ประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
ความร่วมมือเรื่องข้าว ทั้งสองต่างยินดีที่มีความคืบหน้า ซึ่งล่าสุด สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับ รมต.พาณิชย์ ภายใต้กรอบ ACMECS ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการร่วมมือด้านการตลาดข้าวของ 5 ประเทศ และเชิญเวียดนามเข้าประชุมด้วย
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เวียดนามตอบรับพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ACMECS Single Visa ที่ปัจจุบันไทยและกัมพูชาได้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและอาเซียนโดยรวม เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวของภูมิภาค
สำหรับประเด็นการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ไทยได้ย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างไทย-ลาว- เวียดนาม —จีน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานเพื่อรองรับการสร้างเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่รัฐมนตรีคมนาคมของไทย-ลาว-เวียดนาม ซึ่งได้ช่วยกันผลักดันความร่วมมือนี้ และรัฐมนตรีทั้งสามได้ลงนามในบทเพิ่มเติมของ MOU ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกการใช้เส้นทาง EWEC หรือเส้นทางหมายเลข 9 มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีการเสนอให้มีการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเส้นทางหมายเลข 8 และ 12 ผ่าน สปป.ลาวมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องนำไปหารือกับ สปป.ลาว ต่อไป
สำหรับปัญหาทะเลจีนใต้ ไทยและเวียดนามเห็นพ้องให้มีการดำเนินการผลักดัน DOC เป็น COC และการแก้ปัญหาอย่างสันติ เพื่อเสถียรภาพของภูมิภาค โดยไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน-จีน จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยทั้งสองต่างยืนยันที่จะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญ 2 โอกาส คือ การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 3 และ การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ และเชิญให้เวียดนามร่วมประชุม ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบรับยินดีเข้าร่วมการประชุมทั้งสองโอกาส นอกจากนี้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามมีกำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ อันแสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน