ในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยของเจ้าชายฟีลิปฯ ครั้งนี้ จะมีคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลและคณะนักธุรกิจสาขาต่างๆ ของเบลเยียมประมาณ 200 คน ตามเสด็จฯ โดยผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลกลางและรัฐบาลภูมิภาคของเบลเยียม ได้แก่ นาย Didier Reynders รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Kris Peeters นายกรัฐมนตรีของภูมิภาคฟลานเดอร์ส และนาย Jean-Claude Marcourt รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ วิสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม การค้าต่างประเทศ และนวัตกรรมแห่งภูมิภาควัลลูน
ส่วนคณะนักธุรกิจประมาณ 170 คน มาจากบริษัทชั้นนำของเบลเยียมจำนวน 105 บริษัท ที่มีศักยภาพและสนใจจะร่วมมือกับประเทศไทยในสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด บริการด้านสุขภาพและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์
วัตถุประสงค์สำคัญในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยของเจ้าชายฟีลิปฯ คือเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่างไทยกับเบลเยี่ยมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเจ้าชายฟีลิปฯ ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการการค้าต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม (Belgian Foreign Trade Board) ด้วย
ในการเสด็จฯ เยือนประเทศไทย เจ้าชายฟีลิปฯ จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยจะพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ และนายกรัฐมนตรีจะถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่เจ้าชายฟีลิปฯ พระชายา และคณะ ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 18 มีนาคม
นอกจากนี้ จะพระราชทานพระราชวโรกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจเข้าเฝ้าฯ เพื่อหารือข้อราชการ รวมทั้งเจ้าชายฟีลิปฯ จะทรงเข้าร่วมงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นเฉพาะสาขาธุรกิจ เพื่อให้ความรู้แก่นักธุรกิจเบลเยียมที่ตามเสด็จฯ และสร้างโอกาสพบปะหารือกับนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการหาลู่ทางเพิ่มความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในอนาคต
นอกจากนี้ เจ้าชายฟีลิปฯ จะเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการบูรณะซ่อมแซมสะพานไทย-เบลเยียม ระยะที่ 1 เสด็จฯ เยือนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีบริษัทเบลเยียมลงทุนในกิจการขนาดใหญ่หลายบริษัท รวมทั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทย เจ้าหญิงมาทิลด์จะทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในการส่งเสริมบทบาทสตรีในด้านต่างๆ เช่น การเงินในระดับจุลภาค สังคมสงเคราะห์และการพัฒนา และกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งจะทรงเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและบทบาทสตรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และจะพระราชทานพระวโรกาสให้นักธุรกิจหญิงชั้นนำ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีกิจกรรมในประเทศไทยเข้าเฝ้าฯ ด้วย
เบลเยียมเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยที่ใกล้ชิดและยาวนานในทุกระดับและทุกมิติเป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนลำดับต้นจากสหภาพยุโรปและโดยที่เจ้าชายฟีลิปฯ จะทรงเสด็จฯ เยือนประเทศที่มีศักยภาพที่จะมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันเท่านั้น การเสด็จฯ เยือนประเทศไทยพร้อมภาคเอกชนชั้นนำของเบลเยียมครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายเบลเยียมตระหนักถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
นอกจากนี้ การเสด็จฯ เยือนฯ มีขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ภายหลังการเดินทางเยือนเบลเยียมอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนระดับสูงภาครัฐและคณะนักธุรกิจชั้นนำของไทย ระหว่างวันที่ 5 - 6 มีนาคม 56 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พบปะนักธุรกิจเบลเยียมหลายรายที่จะตามเสด็จเจ้าชายฟีลิปฯ ด้วย จึงเป็นการต่อยอดการสานความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับเบลเยียมได้อย่างดี