รมว.พลังงาน ซ้อมแผนรับภาวะฉุกเฉิน ยันปริมาณสำรองเพียงพอส่งผล Ft ลด, ปัดสร้างสถานการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 13, 2013 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังประชุมเชิงปฎิบัติการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานว่า ได้มีการจำลองสถานการณ์เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์จำนวน 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มีความเข้าใจที่ตรงกันในการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น และถือเป็นการทดสอบโครงสร้างการทำงานว่ามีจุดอ่อน-จุดแข็งตรงไหน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอาจสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน

ส่วนระดับการผลิตไฟฟ้าสำรองช่วงเมียนมาร์หยุดจ่ายก๊าซฯ ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,700 เมกะวัตต์ จากความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม และการประหยัดจากภาคราชการ และประชาชน ซึ่งจะทำให้ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(Ft) ลดลง เพราะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่คาดว่า Ft จะเพิ่มขึ้น 0.48 สตางค์ต่อหน่วย

รมว.พลังงาน ยังแสดงความกังวลต่อกรณีที่กลุ่มบุคคลพยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะการระบุว่า ประเทศไทยไทยผลิตน้ำมันได้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ส่งออกทั้งหมด ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันราคาแพงมาจำหน่าย โดยอ้างว่า หากนำน้ำมันที่ผลิตในประเทศมาใช้จะมีราคาเพียง 4 บาท ซึ่งยืนยันว่า เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เพราะไทยผลิตน้ำมันได้เพียง 1 แสนกว่าบาร์เรลต่อวัน แต่เป็นน้ำมันที่มีสารตะกั่วสูงจึงต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้ให้ทีมกฎหมายไปพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากบิดเบือนข้อมูลทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาครัฐ

รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้สร้างสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าครั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และเปิดช่องให้ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ ตามที่กลุ่มต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินพยายามให้ข้อมูลต่อประชาชน แต่ราคาค่าไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงทุนการสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาด ถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำสุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากนิวเคลียร์ และพลังน้ำ และถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ที่ไทยใช้ผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 ของทั้งหมด ซึ่งต้นทุนต่อหน่วยจากการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซฯ อยู่ที่ประมาณ 3 บาท 75 สตางค์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ในปีที่แล้ว

"หากเป็นลักษณะนี้ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาท 75 สตางค์ใน 4 ปี ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศ และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะที่การผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือ สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ไม่สามารถผลักดันได้ในระยะสั้น ถ่านหินสะอาดจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนปัญหาโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่กลุ่มชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้ กฟผ.จ่ายเงินค่าชดเชยกรณีย้ายออกจากพื้นที่นั้น รมว.พลังงาน เชื่อว่า กฟผ.จะแก้ปัญหาได้ และไม่ปฎิเสธความรับผิดชอบ โดยที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้าน, กฟผ. และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แต่การเจรจายังไม่เป็นผล

ส่วนที่มีข่าวโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีฝุ่นละอองมากที่สุดในประเทศนั้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าเกิดจากการเผาป่าในพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างไรก็ตาม ตนเองได้สั่งการให้ กฟผ.เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ไม่ได้มีปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจาด้วยดีตลอด ซึ่งเบื้องต้นปัญหาน่าจะเกิดจากกลุ่มชาวบ้านที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เนื่องจากมีทั้งบางส่วนที่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่และไม่อยากย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้ยังไม่สามารถเจรจาได้สำเร็จ ทั้งนี้ กฟผ.พร้อมจ่ายเงินชดเชยให้ หากปฎิบัติตามหลักเกณฑ์

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่ง กฟผ.ขอยืนยันว่า เป็นถ่านหินสะอาด ประสิทธิภาพสูง และจะประสานงานกับกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อร่วมทำความเข้าใจกับชาวบ้านต่อไป

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนากำลังผลิตการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2010) ที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 4,400 เมกกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้ากระบี่มีกำลังผลิต 800 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่แม่เมาะอีก 600 เมกกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ