สำหรับมาตรการช่วยเหลือกรณีเกษตรกรที่ประสบภัยร้ายแรงหรือเสียหายจนเป็นเหตุให้รายได้ลดลงเกินกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ปกติ ธ.ก.ส.จะขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 1 ปี ทั้งลูกค้าปกติและลูกค้าโครงการพักชำระหนี้ ยกเว้นกรณีที่เกษตรกรได้รับสิทธิที่ดีกว่าในโครงการเดิม เช่น โครงการพักชำระหนี้น้ำท่วมปี 2554 เป็นต้น
นอกจากนี้ยังปล่อยกู้ใหม่เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูการประกอบอาชีพ รายละไม่เกิน 1 แสนบาท โดยเฉพาะการกู้เพื่อนำไปลงทุนปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนพืชผลที่ได้รับความเสียหายหรือประกอบอาชีพอื่นทดแทน หรือกู้เพื่อนำไปพัฒนาแหล่งน้ำในที่ดินของตนเองเพื่อให้มีน้ำพอเพียง รวมทั้งเงินกู้แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแบบเฉพาะหน้า เช่น เงินกู้ซื้อน้ำเพื่อบำรุงรักษา กรณีสวนผลไม้ สวนยาง สวนปาล์ม เป็นต้น โดยจะได้รับการลดหย่อนหลักประกันเงินกู้กรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน จากกู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งเป็นกู้ได้ไม่เกินวงเงินจำนองและกรณีใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน หรือกรณีกู้เงินโดยใช้หลักประกันบุคคลอย่างน้อย 2 คนค้ำประกัน จะขยายวงเงินกู้จากกู้ได้ไม่เกินรายละ 200,000 บาท เป็นไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังพร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาบริหารจัดการระบบน้ำศูนย์กลางของชุมชน ในเงื่อนไขผ่อนปรนและอัตราดอกเบี้ยพิเศษด้วย
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรต้องขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วย ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงได้นำรถบรรทุกน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายตามชุมชนต่างๆ และในกรณีที่ชุมชนมีแหล่งน้ำ ธ.ก.ส.จะจัดสรรงบประมาณในการขุดลอกคูคลอง พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำของชุมชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ นอกจากนี้ยังสนับสนุน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชมอบให้กับเกษตรกรเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และจัดหาตลาดสำหรับจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรตามความเหมาะสมต่อไป