รมว.คลังห่วงเงินบาทแข็งกระเทือนส่งออก เตือนธปท.ปรับแนวคิดนโยบายการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 14, 2013 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาค่อนข้างมาก มีความเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของภาคการส่งออก แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้จากแรงขับเคลื่อนอื่น ๆ นอกเหนือจากการส่งออก คือ การขยายตัวของกำลังซื้อในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน แต่การส่งออกยังมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจและมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงาน ดังนั้น หากสามารถรักษาความสามารถการส่งออกได้ดี ก็จะช่วยรักษาศักยภาพของเศรษฐกิจ ดังนั้น ควรจะดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป

ที่ผ่านมาก็พยายามขอร้องธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการวางนโยบายทางการเงินที่ส่งผลทำให้เงินบาทแข็งค่าผิดธรรมชาติและดอกเบี้ยที่สูงผิดธรรมชาติ ควรจะมีการทบทวนแนวคิดการวางนโยบายการเงิน แม้จะถูกมองว่า รมว.คลังเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท.แต่ตนเองก็ได้แสดงความห่วงใยเรื่องค่าเงินบาทมาตลอดตั้งแต่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ โดยหวังให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปเพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งออก

"ตอนนี้บาทแข็งค่ามามากแล้ว ไม่ได้บอกว่าจะให้กลับไปที่ 31 แต่ขอให้ทบทวนความคิดเกี่ยวกับมาตรการการเงิน หากสามารถทำให้เงินบาทอยู่ในระดับที่อ่อนค่ากว่านี้ก็น่ายินดี"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ มองว่าหากเงินบาทแข็งค่ามากไปกว่านี้จนเริ่มกระทบต่อศักยภาพการส่งออก อาจจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ จึงควรจะรีบดำเนินการไม่ให้เงินบาทผันผวน ดูแลให้มีเสถียรภาพ ขณะที่นโยบายการคลังเองได้มีการวางแนวทางดำเนินการไม่สร้างภาระที่กระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป เช่น ในส่วนของภาระหนี้ต่างประเทศก็ได้มีการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้สามารถชำระคืนหนี้ก่อนกำหนดได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบไม่ให้เงินบาทแข็งค่า แต่การดำเนินการของกระทรวงการคลังจะทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ขณะที่กรณีรัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรอ้างอิงเงินเฟ้อ แม้ต้องการให้นักลงทุนในประเทศลงทุน แต่ก็พบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมาก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนอิงพื้นฐานดอกเบี้ยนโยบาย จึงอยากให้ ธปท.ทบทวนข้อคิดเห็นและดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ซึ่งตนเองพร้อมจะยอมรับกับผลที่ออกมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ