ธ.ก.ส.เผยโพลเกษตรกรส่วนใหญ่มีความสุขในอาชีพ, เตรียมพร้อมรับภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 14, 2013 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรทุกจังหวัด ในหัวข้อระดับความสุขเกษตรกรไทย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความสุขในการประกอบอาชีพการเกษตรอยู่ในระดับค่อนข้างมาก ร้อยละ 75.8 และอยู่ในระดับค่อนข้าวน้อย ร้อยละ 24.2 โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและอ้อยมีความสุขในการประกอบอาชีพมากที่สุด คือ ร้อยละ 38.5 และ 31.1 ตามลำดับ

ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และปลูกมันสำปะหลังมีความสุขในการประกอบอาชีพระดับค่อนข้างมาก คือ ร้อยละ 48.3 และร้อยละ 33.3

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรมีความสุข 2 อันดับแรก ได้แก่ มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำการเกษตรได้ผลดี ราคาดี เพียงพอค่าใช้จ่าย หนีสินลดลง มีเงินออม และความสุขในครอบครัว คือ ครอบครัวอบอุ่นอยู่กันพร้อมหน้า สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจกันดี

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมีความกังวลในเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ค่าแรง ตลอดจนสภาพอากาศที่แปรปรวน และการขาดแคลนแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความคิดเห้น หัวข้อ "ภาวะภัยแล้ง ปี 2556" พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรประสบภาวะภัยแล้งร้อยละ 33.4 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร้อยละ 26.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ร้อยละ 19.4 ภาคเหนือตอนบน ร้อยละ 15.6 ภาคกลาง ร้อยละ 10

ส่วนอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรง 5 อันดับแรก ได้แก เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

พื้นที่ปลูกข้าวของไทยมีจำนวน 78.2 ล้านไร่ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50-60% ภาคเหนือ 20% ภาคกลาง 18%

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมีการปรับตัว คือ วางแผนเลื่อนระยะเวลาในการเพาะปลูกเร็วขึ้นให้เร็วขึ้นหรือช้าลงจากช่วงระยะเวลาเดิม ปรับลดหรือเพิ่มสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นพืชหลักและพืชรอง เข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลการเกษตร ปรับเปลี่ยนพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ทำกิข ปรับลดจำนวนครั้งการผลิต และเตรียมพร้อมวิธีอื่นๆ เช่น ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และปลูกต้นไม้

นายสมศักดิ์ กล่าวถึง ผลการวิจัย"แนวทางการปรับตัวของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. กรณีศึกษาภาวะโลกร้อน" ว่า ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตการเกษตร มีปริมาณลดลงและอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางด้านอาหารพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเกิดโรคระบาด โรคติดต่อในพืชและสัตว์ ทำให้คุณภาพสินค้าเกษตรลดลง

ทั้งนี้ แนวทางการปรับตัวของเกษตรกร คือต้องพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้าระดับพรีเมี่ยมเพื่อสร้างจุดเด่นของสินค้าด้วยกลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง ใช้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยแผนที่ อาทิ จำแนกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมมากหรือน้อย หรือพื้นที่ปลอดภัยในการเก็บเมล็ดพันธุ์

ส่วนด้านการตลาดควรมีการศึกษาว่าสินค้าประเภทใดเป็นที่ต้องการของตลาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และลดการพึ่งพาจากภาครัฐ ทำให้อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคงสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และมีการสืบทอดอาชีพการเกษตรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. กำหนดจัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ยุทธศาสตร์วิจัยเกษตรกรไทยในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เมษายน 2556 ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ เขตบางเขน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานวิจัยของเครือข่ายนักวิจัย ธ.ก.ส. เพื่อพัฒนาคุณภาพวิจัย ซึ่งภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษและบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ เรื่องมองอนาคตเกษตรกรไทย เรื่องเกษตรในอนาคต เกษตรอัจฉริยะ เรื่องการพัฒนาชุมชนและเรื่องการเปิดมุมมองงานวิจัยสู่ประชาคมอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ