ทั้งนี้ ไทยและอิเควทอเรียลกินีมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมาตลอดระยะเวลา 22 ปี นับแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต อย่างไรก็ดี ผู้นำทั้งสองเห็นว่า ยังสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ได้อีกมาก
ด้านการค้าการลงทุนในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้ารวมระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า (ในปี 2011 มูลค่าการค้าร่วมระหว่างกันอยู่ที่ 188 ล้านบาท และปี 2012 มูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,561 ล้านบาท) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นและอิเควทอเรียลกินีเป็นประเทศที่ภาคเอกชนน่าจะพิจารณาเข้าไปลงทุน โดยที่นักธุรกิจไทยเองมีความเชี่ยวชาญในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การก่อสร้างและพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมของอิเควทอเรียลกินีกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีมีแผนที่จะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ซึ่งอิเควทอเรียลกินีพร้อมให้การสนับสนุนและมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ
ด้านความมั่นคงทางพลังงานทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งอิเควทอเรียลมีศักยภาพ และด้านเกษตร อาหาร และการประมงที่ไทยมีศักยภาพที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญระหว่างกัน และต่างประสงค์ที่จะมีความร่วมมือเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยอิเควทอเรียลกินีแสดงความประสงค์ซื้อข้าวจากไทยในระยะยาว สำหรับประเด็นด้านพลังงานเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญระดับชาติ และปัจจุบันไทยมีการลงทุนในการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีความพยายามหาแหล่ง LNG จากต่างประเทศด้วยซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนความร่วมมือในสาขาดังกล่าว
ด้านการเมืองและความมั่นคง รัฐบาลไทยเห็นว่าความร่วมมือใต้-ใต้ มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังพัฒนา และชื่นชมบทบาทของอิเควทอเรียลกินีในการส่งเสริมความร่วมมือนี้ ซึ่งอิเควทอเรียลกินีประสบความสำเร็จในการจัดประชุมระหว่างผู้นำประเทศในแอฟริกา แคริบเบียนและแปซิฟิกครั้งที่ 7และการประชุมระหว่างผู้นำประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ครั้งที่ 3 ไทยจึงประสงค์จะให้มีการแลกเปลี่ยนในลักษณะเดียวกันระหว่างไทย-แอฟริกา ซึ่งจะนำไปสู่กรอบการเจรจาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเอเชียและแอฟริกาต่อไป นอกจากนั้นไทยยังขอรับการสนับสนุนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยไทยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากอิเควทอเรียลกินีในเรื่องดังกล่าว
ผู้นำทั้งสองต่างแสดงความเชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และเป็นการเสริมสร้างรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอนาคต
โดยภายหลังการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่า ด้วยการจัดตั้งการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกีนี
ทั้งนี้ การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการเยือนครั้งแรกของประธานาธิบดี และเป็นการเยือนระดับสูงครั้งแรกตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต (ปี 2534) โดยที่สาธารณรัฐอิเควทอเรียวกินีมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข (วาระ 7 ปี)