(เพิ่มเติม) ส.อ.ท. ห่วงภาคอุตฯ รับผลกระทบจากเงินบาทผันผวน วอนธปท.ดูแลความเหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 15, 2013 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่า ทางภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้น เนื่องจากทำให้ปรับตัวลำบาก ทั้งนี้จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่านี้ทาง ส.อ.ท.ได้หารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ว่าขอให้เข้ามาดูแล รวมทั้งได้เสนอแนวทางไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย เงินไหลเข้าไหลออก ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน อยากขอให้ ธปท. พิจารณาใช้มาตราการที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยธปท.จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม
"ความผันผวนระยะสั้นทำให้เกิดความเสียหายได้พอๆกันกับความผันผวนระยะกลางและระยะยาว ถ้า ธปท.แทรกแซงแล้วแต่ยังเอาไม่อยู่ก็ต้องพิจารณาว่าควรจะต้องใช้วิธีใดเพิ่มเติมหรือไม่ ธปท.ต้องตัดสินใจ"นายเจน กล่าว

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตราการเข้ามาดูแลค่าเงินต้องระมัดระวังเรื่องการเกิดผลข้างเคียง หากเงินบาทแข็งค่าและอ่อนค่าเร็วเกินไป อาจจะทำให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการต่างๆปรับตัวลำบากโดยเฉพาะการวางแผนการผลิต การส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้เห็นถึงผลกระทบแล้วในบางอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการอุปโภค บริโภค อตสาหกรรมอาหาร

"ทุกคนทราบโจทย์ความเดือดร้อน ซึ่งเชื่อว่า ธปท. ก็มีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและจะเกิดอะไรขึ้น ต้องดูแลอะไร โดยเรื่องทั้งหมด ส.อ.ท.เคยนำเสนอไปแล้ว ขึ้นอยู่กับ ธปท. ต้องเร่งตัดสินใจ พิจารณามาตราการที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่ง ธปท.มีเครื่องมือหลายอย่างที่จะนำมาใช้ แต่เราอยากให้ใช้ให้ทันกาล ใช้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกจนคาดการณ์ไม่ได้ ค้าขายยาก..เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามปรับตัวกันอย่างเต็มที่แล้ว" นายเจน กล่าว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวเสริมว่า ในระยะหลังค่าเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวตามภูมิภาคเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลวทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินบาทแข็งค่าสวนทางกับภูมิภาค และแม้ว่า ธปท.จะเข้ามาแทรกแซงโดยตลอดก็ตาม

"ขนาดแทรกแซงยัง 29.50 กว่า ถ้าไม่แทรกแซงอาจจะลงไป 29.30 บาท/ดอลลาร์ ธปท.จะต้องพิจารณาแล้ว หากรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 3 เม.ย.จะทันหรือไม่ เราเป็นห่วงเงินทุนระยะสั้นในตลาดพันธบัตรมากกว่าเงินในตลาดหุ้น"นายวัลลภกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ