โดยในเบื้องต้นจะแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความชำนาญ กฎเกณฑ์ของตลาด ข้อกฎหมายและข้อบังคับ โดยทั้ง AFET และ SMX มีโอกาสที่จะหารือร่วมกันจัดทำหรือยกร่างข้อกำหนดสัญญาซื้อขาย แผนการดำเนินงาน การกำกับดูแลระบบ ตลอดจนขั้นตอนการซื้อขายสัญญาที่มีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
“กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญของกลไกการทำงานของตลาดล่วงหน้าสินค้าเกษตรว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา ตลอดจนการเป็นเครื่องชี้แนวโน้มของราคาสินค้าในอนาคต การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและเกษตรกรให้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูล การมีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพื่อเอื้ออำนวยโอกาสในการเข้ามาทำการซื้อขายล่วงหน้า ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องกังวลใจว่าราคาสินค้าในอนาคตจะปรับตัวขึ้นลง และยังเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับนักลงทุน"นายบุญทรงกล่าว
ด้านนายชาตรี สหเวชชภัณฑ์ กรรมการและผู้จัดการ AFET กล่าวว่า ความร่วมมือกับสิงคโปร์ครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความชำนาญ การพัฒนากฎระเบียบ และกลยุทธ์การดำเนินงาน ที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถของตลาดล่วงหน้าในภูมิภาคเดียวกัน
ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือกับตลาดล่วงหน้าภายในภูมิภาคเดียวกันครั้งนี้ ถือเป็นแห่งที่ 2 โดยแห่งแรกได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Bursa Malaysia Berhad ของมาเลเซียเมื่อปี 54
ขณะที่ มร.วี ฮารีฮาราน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMX กล่าวว่า มั่นใจว่าทั้งผู้ประกอบการชาวไทย นักลงทุน และสมาชิกตลาด จะได้ประโยชน์จากนวัตกรรมสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ ตลอดจนมีข้อมูลในตลาดล่วงหน้าแห่งเอเชียที่เปิดทำการในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน AFET มีปริมาณการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 400 สัญญาต่อวัน ในปี 55 มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 79,987 สัญญา คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายรวม 43,746 ล้านบาท โดยมียางแผ่นรมควันชั้น (RSS3) เป็นสินค้าที่มีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายสูงสุด และมีช่วงความผันผวนของราคาสูงมากถึงร้อยละ 29.42 ส่วน SMX มีสมาชิกโบรกเกอร์ทั้งสิ้น 60 ราย มีมูลค่าการซื้อขายสัญญาเฉลี่ย 8,200 สัญญาต่อวัน โดยในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายสัญญารวมทั้งสิ้น 2 ล้านสัญญา คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายรวม 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ