ขณะที่การกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการดังกล่าวว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศในสัดส่วนอย่างไรนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ส่วนสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้มองว่าจะไม่กระทบต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว
"อัตราแลกเปลี่ยนยังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากเรามีการลงทุนและนำเข้าในช่วงเวลาส่งมอบไม่นาน เป็นระยะสั้นๆ คงไม่มีผลต่อความเสี่ยง" รมว.คมนาคม กล่าว
รมว.คมนาคม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "งบ 2 ล้านล้านบาท ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐร่วมภาคเอกชนและภูมิภาค" ในระหว่างการประชุมสามัญประจำปีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ว่า ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำมาระยะเวลานานนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ประกอบกับงบลงทุนยังอยู่ในระดับตำกว่าร้อยละ 25 เป็นเวลากว่า 6 ปีติดต่อกัน ส่งผลให้คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของไทยคมนาคมของไทยต่ำกว่าประเทศคู่แข่งขัน โดยไทยอยู่อันดับที่ 49 ขณะที่มาเลเซีย อยู่อันดับ 29 และดีที่สุดคือประเทศสิงคโปร์ อันดับ 2 ซึ่งรัฐบาลมองว่าการลงทุนตาม พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานฯ ถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ประเทศไทยในปัจจุบันใช้ระบบขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 86% ส่งผลให้มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อยู่ที่ 15.2% หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาทต่อปี การใช้ถนนมากส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสร้างความเสียหายสูงถึง 232,000 ล้านบาทต่อปีและยังก่อมลพิษเพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นท้าทายทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทย คือ การลงทุนระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยจะต้องมีการลงทุนรถไฟฟ้า 10 สายทาง พร้อมระบบตั๋วร่วมที่ใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ พร้อมกันนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนนไปสู่การขนส่งทางรางให้มากขึ้น ด้านระเบียงเศรษฐกิจนั้นประเทศไทยจะต้องพัฒาระบบคมนาคมให้สามารถเชื่อมต่อประเทศในภูมิภาคได้อย่างสะดวก พร้อมกันนี้จะมีการพัฒนาท่าเรือ และท่าอากาศยาน รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายขนส่งภายในประเทศไปด้วย
รมว.คมนาคม กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ถึง 78% เป็นการลงทุนระบบราง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายถนนอีกประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนที่มองว่าใช้เงินลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาทนั้น หากพิจารณาช่วงระยะเวลาลงทุนนาน 7 ปี จะพบว่าแต่ละปีลงทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2% ของจีดีพีเท่านั้นซึ่งยังน้อยกว่าวงเงินลงทุนของภาคเอกชน