"เงินบาทมีโอกาสกลับไปทดสอบระดับ 25-26 บาท/ดอลลาร์ เหมือนตอนต้มยำกุ้ง แต่คงยังไม่เกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ แต่สำหรับปีนี้มองแนวรับเงินบาทไว้ที่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์"นายสมภพ กล่าว
สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่า เกิดจากตัวแปรในประเทศ ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าไปถึงเท่าไหร่ เมื่อได้ดอลลาร์มาก็รีบเทขายยิ่งส่งผลให้บาทแข็ง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เรียกว่า Push Factor จากนโยบาย QE ของหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น และ เมืองไทยมี Pull Factor คือ ปัจจัยเศรษฐกิจ GDP ดี, หนี้สาธารณะต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ การนำเข้าส่งออกดี การว่างงานต่ำ อีกทั้งประเทศไทยยังเกาะกระแส AEC ได้ดีกว่าที่อื่น ทำให้ประเทศไทยจะกลายเป็นประตูสู่อาเซียนในอนาคต มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มองว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือ คือต้องมี 5 More คือ 1.More Valuaded 2.More Variety 3.More Market 4. More Investment Base 5.More Currency
นายสมภพ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องนำบทเรียนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นตัวตั้ง ธปท.มีเครื่องมือเยอะ แต่มองว่าการลดดอกเบี้ย R/P ไม่น่าจะเป็นทางออก เพราะมองว่าไม่มีผลดี ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามการลดดอกเบี้ยจะเป็นการเร่งภาวะฟองสบู่ในเมืองไทยให้เกิดเร็วขึ้น
พร้อมกับแนะนำให้ ธปท.ระวัง 3 เรื่อง คือ 1.หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งปี 55 หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวกว่า 20% 2. รัฐบาลต้องบริหารนโยบายประชานิยมให้ดี ระวังอย่าให้กลายเป็นกับดักของตัวเอง บางนโยบายดีก็ดำเนินการไป แต่นโยบายไหนไม่ดีก็ต้องพิจารณาและทบทวน 3.ระวังฟองสบู่ในตลาดหุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการบริโภค
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เกดิการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งเงินออมให้มีความคล่องตัวมากกว่านี้
ด้านนายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (สายธุรกิจข้าวและอาหาร) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวเสริมว่า ในสถานการณ์เงินบาที่แข็งค่าในขณะนี้ กลุ่มผู้ส่งออกข้าวกำลังได้รับผลกระทบ 2 ด้าน ทั้งจากราคารับจำนำข้าวที่สูงขึ้นและค่าเงินบาทที่แข็งค่า ต้องยอมรับว่านโยบายรับจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวของไทยในตลาดโลกสูงมาก ขายสินค้าลำบาก หนำซ้ำยังมาเจอบาทแข็งอีกทำให้เงินขายข้าวดอลลาร์เมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็จะได้มูลค่าลดลง
"ผู้ส่งออกข้าวโดนผลกระทบจาก 2 ด้าน ด้านแรกคือนโยบายรับจำนำข้าว อีกด้านคือบาทแข็ง เงินบาทแข็งทุก 1 บาท จะทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวลดลงประมาณ 10%"นายสุเมธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าปริมาณการส่งออกข้าวในปีนี้จะดีกว่าปีก่อน คาดว่าปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 8 ล้านตัน กลับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แต่ก็คาดว่าจะยังน้อยกว่าอินเดียที่คาดว่าปีนี้น่าจะส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน