ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันมีความเหมาะสมในการที่จะกู้เงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรปอยู่ในช่วงต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ เพราะประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและตลาดทุนโลก รวมทั้งตลาดพันธบัตรในประเทศอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันจะสูงกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อปี 51 และ 52 แต่ต้นทุนการกู้ยืมระยะ 5-7 ปีในปัจจุบันต่ำกว่า
ขณะเดียวกันเงินบาทอยู่ในช่วงแข็งค่าทำให้การลงทุนของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีต้นทุนถูกลง อีกทั้งภาวะคล่องส่วนเกินในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์สูง และประเทศไทยขาดการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน รวมทั้งรัฐบาลได้มีการติดตามและประเมินผลสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด และตระหนักดีว่าเศรษฐกิจโลกยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว ทำให้มีความจำเป็นในการให้น้ำหนักความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะทางด้านการลงทุน
ขณะนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ระดับร้อยละ 44 ของ GDP โดยรัฐบาลจะรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ยืนยันว่าในระยะ 7 ปีข้างหน้า หนี้จะไม่เกินร้อยละ 50 ของ GDP อย่างไรก็ตาม การกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ไม่ได้เป็นการกู้มาในครั้งเดียว แต่จะเป็นการทยอยกู้ในแต่ละปี
และจากการคาดการณ์เศรษฐกิจใน 7 ปีข้างหน้า GDP ก็จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นจึงทำให้รัฐบาลสามารถรักษาระดับหนี้ไม่เกิน ร้อยละ 50 ของ GDP ขณะเดียวกันการกู้เงินครั้งนี้ก็เป็นการกู้เพื่อเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ และลดต้นทุนการขนส่งของประเทศที่มีปัญหามานาน ทำให้การจัดอันดับการแข่งขันของประเทศไทยโดย World Economic Forum (WEF) และ International Institute for Management Development (IMD) ลดลงตลอดเวลา เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน และเมื่อรัฐบาลมีโครงการนี้ชัดเจนสถาบันจัดลำดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ อิบคา ก็ได้เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็น 3 บีบวก ( BBB+) จากเดิมอยู่ในระดับ 3 บี (BBB) แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นโครงการลงทุนในครั้งนี้