BAY คาดบาทแข็งค่าทั้งปีมีลุ้นแตะ 29 บาท/ดอลลาร์ แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2013 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ประเมินว่า ทิศทางเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยจะอยู่ที่ระดับ 29.50 บาท/ดอลลาร์ และมีโอกาสจะหลุด 29.50 บาทได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งมองว่าถ้าหลุดจาก 29.50 บาท ก็จะลงไปอยู่ที่ 29.30 บาท และ 29.00 บาทตามลำดับ เนื่องจากยังปัจจัยเสี่ยงจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทำให้มีเงินทุนไหลเข้าในประเทศมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ด้วยว่าจะมีการบริหารไม่ให้หลุด 29.50 บาท/ดอลลาร์ได้อย่างไร

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่า ยังไม่เห็นความต้องการที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างชัดเจน หากมีการปรับขึ้นหรือปรับลงก็คงจะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทบ้าง แต่มองว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อค่าเงินบาทมากกว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงที่อยู่ที่ 2.75%

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงได้เปรียบดุลการชำระเงิน (Balance of payment) และสะสมมากขึ้นถึงระดับกว่า 130 พันล้านเหรีญสหรัฐในปัจจุบัน โดยเป็นผลมาจาก R&D ของภาครัฐและภาคเอกชน และ Mega Projects รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน เช่น รถไฟความเร็ว, ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน, ระบบรถไฟสายใหม่, รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง, การลงทุนขนส่งทางน้ำ และการลงทุนขนส่งทางอากาศ ซึ่งมองว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างการนำเข้าเครื่องจักร โดยเป็นการช่วยให้ค่าเงินบาทไม่ถึงกับ one way direction ได้

นอกจากนี้ นักลงทุนที่ได้รับประโยชน์จากดัชนีหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นจากเงินเข้ามาลงทุนในตลาด ได้ดันค่า P/E ตลาดให้สูงขึ้น และผู้นำเข้าที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า คือ ธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี, ธุรกิจสื่อสาร-โทรคมนาคม, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงพยาบาล, ผู้ผลิตเครื่องจักร, ธุรกิจเหล็ก, ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง-รับเหมาก่อสร้าง โดยจะมีต้นทุนการนำเข้าถูกลง ภาระหนี้สกุลเงินต่างประเทศลดลง ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้ส่งออก เช่น ข้าว, ยาง, น้ำตาล, ผลไม้-ผัก, กุ้งและอาหารแช่แข็ง, ไก่แช่แข็ง, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, รองเท้า, ชิ้นส่วน, โรงแรม, ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง, เครื่องหนัง, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, เครื่องประดับและอัญมณี

นายตรรก กล่าวว่า ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าควรรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาทนี้ให้ดี โดยให้เลือกใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการรับและชำระค่าสินค้าเป็นหลัก ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบง่ายๆ เช่น สัญญาสว็อป, สัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า, สัญญาอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าอัตราเดียว รวมถึงใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบบซับซ้อน เช่น สัญญาออปชั่นแบบยูโรเปี้ยนหรือแบบอเมริกัน

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจต่างประเทศขณะนี้ เริ่มปรับตัวดีขึ้นแต่การฟื้นตัวยังคงอ่อนแอสะท้อนให้เห็นว่ายังจำเป็นต้องใช้มาตราการกระตุ้นต่อเนื่อง โดยความเสี่ยงของยูโรโซนยังคงมีอยู่ ซึ่งธนาคารกลางยุโรป(ECB) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของยูโรโซน ขณะที่ Fitch ลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิลาตีเป็น BBB+, ส่วนของสหรัฐฯนั้นมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(FED) จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยใช้มาตรการ QE ต่อไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้การจ้างงานปรับตัวดีขี้น

นอกจากนี้ทางการจีนประกาศใช้นโยบายการคลังเชิงรุกกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มีความกังวลในเรื่องฟองสบู่จากภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนเศรษฐกิจไทยมองว่าเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในบางภาคเศรษฐกิจ ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจาก Fitch เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ระดับ BBB+, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 19 เดือน และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เตรีบมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยยังคงเฝ้าติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ