ก.เกษตรฯ เร่งศึกษาลดต้นทุนการผลิตรองรับการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2013 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ จัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรการ ลดต้นทุนสินค้าเกษตร โดยทำหน้าที่ประมวล วิเคราะห์และกำหนดมาตรการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิตในแต่ละรายสินค้า ทั้งในกลุ่มของพืช ประมงและปศุสัตว์ โดยที่ผ่านมา ได้มีการศึกษา ทดลอง และจัดทำเทคโนโลยีในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่องเกือบทุกชนิดสินค้า โดยเฉพาะในสินค้าหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ซึ่งมีเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเกี่ยวข้องมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสอดคล้องกับมาตรการการกำหนดเขตเศรษฐกิจรายสินค้า (Zoning) ที่จังหวัดสามารถ นำเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตไปใช้ประกอบการจัดทำแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของจังหวัดและตอบสนองต่อการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล

ในส่วนของข้าว ได้มีการรณรงค์การลดต้นทุนการผลิตข้าว ตั้งแต่ปี 2554 ดำเนินการในพื้นที่ นำร่อง 6 จังหวัด และในปี 2555 อีกจำนวน 20 จังหวัด โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เกินความจำเป็น ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในอัตราที่เหมาะสม ปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ทำบัญชีต้นทุนเพื่อให้ทราบรายรับรายจ่าย ตลอดจนมีการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 30% ซึ่งผลจากการลดต้นทุนทำให้ผลผลิตข้าวและรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น คุณภาพข้าวดีขึ้น นอกจากนี้จะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปช่วยในการผลิต ซึ่งโดยปรกติค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ในการผลิตพืชต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งหากนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลมาใช้จะสามารถลดต้นทุนการผลิตพืชต่างๆ ลงได้อีกประมาณ 20% ซึ่งผลจากการศึกษาและทดลองการลดต้นทุนการผลิตที่ได้จะนำไปขยายผลสู่จังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง จะให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องของพันธุ์และปุ๋ย การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและเทคนิคการระเบิดดินดาน ซึ่งเทคนิคนี้ใช้ได้ดีกับการปลูกมันสำปะหลัง สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ 19 % ในส่วนของพืชผัก หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่งส่งโรงงานอุตสาหกรรมและผักกินใบ กำหนด 5 มาตรการในการลดต้นทุนการผลิต ได้แก่ การจัดการดิน น้ำ พันธุ์และการเขตกรรมที่เหมาะสม การจัดการพืชผักด้วยการใช้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานและการจัดทำบัญชีฟาร์ม สินค้าประมง กำหนดมาตรการลดต้นทุนการผลิตกุ้งขาวและปลานิล โดยกุ้งขาว เน้น 2 กิจกรรม คือ ด้านอาหารและด้านพลังงาน ส่วนปลานิล เน้นด้านอาหารและลูกพันธุ์

สินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ โคนม โคเนื้อและสุกร การเลี้ยงต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ แหล่งปลูกพืชอาหารสัตว์ความสะดวกและค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง เป็นต้น ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการศึกษา วิจัยหรือทดลองเพิ่มเติมอาจของบประมาณสนับสนุนจากสำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

"กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งการขับเคลื่อนการขยายผลการศึกษา ทดลองการลดต้นทุนการผลิตไปสู่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้แพร่หลายมากขึ้นในทุกสินค้าครอบคลุมทั้งพืช ประมงและปศุสัตว์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศ พร้อมทั้งจะทำการพัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตเป็นรายพื้นที่ให้เหมาะสมกับแต่ละแหล่งผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" นายชวลิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ