ธปท.เล็งใช้มาตรการภาษีจูงใจใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้า ส่งเสริม e-payment

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2013 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านบริหารเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย.55 ธปท.ได้ออกประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอเล็กทรอนิคส์ กำหนดให้การรับส่งข้อมูลการใช้บัตรเดบิตที่ออกและใช้ในประเทศ ต้องดำเนินการภายในประเทศเท่านั้น และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย.56

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบการชำระเงินของประเทศ หากเกิดวิกฤตสถานการณ์ในต่างประเทศ จนทำให้ระบบของบริษัทต่างต่างประเทศ ไม่สามารถให้บริการได้และจะเป็นปัญหาต่อระบบของสถาบันการเงินของไทย อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมดังกล่าว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายปีละนับพันล้านบาท

"ปัจจุบันบัตรเดบิต เช่นที่ผูกไว้กับ VISA เมื่อมีการใช้ก็ต้องส่งข้อมูลไปยังต่างประเทศก่อน แล้วจึงจะกลับมาในประเทศ แต่เกณฑ์ใหม่ เมื่อมีการใช้บัตร สามารถส่งข้อมูลที่ Local switching ได้เลย ไม่ต้องส่งไปต่างประเทศก่อน...VISA เป็นองค์กรที่อยู่เหนือเหนือการกำกับดูแล หากเกิดปัญหาจนไม่สามารถให้บริการได้ ก็จะกระทบต่อระบบภายในเราได้"นางทองอุไร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าตั้งแต่ปีก่อน แต่เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ได้มีเวลาปรับตัวเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัท NITMX อยู่ระหว่างการทดสอบระบบงานเพื่อเตรียมการเริ่มใช้ระบบ Local Switching

นอกจากนี้ ธปท.ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ e-payment มากขึ้น โดยขณะนี้ได้วางแนวทางส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับกรมสรรพาเพื่อนำมาตรการภาษีมาใช้ในการส่งเสริมการใช้บัตรเดบิต เช่น กรณีของประเทศเกาหลีใต้ จะนำแต้มสะสมจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตมาหักลดหย่อนภาษีได้

ส่วนของไทยยังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด โดยปัจจบันผู้ถือบัตรเดบิตส่วนใหญ่จะใช้ในการกดเงินสด ATM เท่านั้น แต่มีการรูดใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเพียง 1%ของผู้ถือบัตรเดบิต

อย่างไรก็ตาม มองว่าระบบ e-payment ที่ควรจะเกิดขึ้นได้เร็ว โดยใช้ e-money ในระบบการขนส่งสาธารณะ เนื่องจากปัจจุบันมีการก่อสร้างระบบรถ ราง เรือ ที่น่าจะเชื่อมโยงกันได้และช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ไม่ต้องมีบัตรแต่ละประภทหลายใบ และอนาคตอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการซื้อสินค้าในร้าน modern trade ได้อีกด้วย

ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า แผนกลยุทธระบบการชำระเงินปี 55-59 ได้มีการเตรียมความพร้อมการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 ซึ่งได้มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ โดยขระนี้ได้มีการเชื่อมโยงระบบ ATM โดยผู้ให้บริการคือ NITMX

ปัจจุบันไทยมีการเชื่อมระบบ ATM Pool แล้ว 3 ประเทศ คือ เวียดนาม เกาหลีใต้ และมาเลเซีย และ NITMX อยู่ระหว่างการดำเนินการเชื่อมโยง ATM ของไทยกับประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ในปีนี้ และใน 1-2 ปีนี้ประเทศในอาเซียนจะเชื่อมต่อระบบ ATM ระหว่างกันได้เกือบทุกประเทศ ซึ่งจะทำให้การเบิกถอนเงิน โอนเงิน ในอาเซียน มีความง่ายและสะดวก

ธปท.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างไทยกับประเทศกลุ่ม CLM (กัมพูชา ลาว และพม่า) โดยพัฒนาวิธีการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานต่างด้าว เช่นผ่าน ATM หรือสาขาธนาคารพาริชย์ การพัฒนาวิธีการชำระค่าสินค้าชายแดนให้มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเชื่อมโยงงานระบบ Retail payment และเชื่อมโยงระบบงาน Large-value Payment


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ