พร้อมกันนี้ได้มอบนโยบาย ด้านการเกษตรต่างประเทศแก่อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) และกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้เน้นการทำงานใน 4 มิติ ได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการเจรจา การนำเสนอ และการแก้ปัญหาภาคเกษตรกับต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น กระบวนการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การแก้ปัญหาด้านเทคนิคของสินค้าเกษตรและอาหารในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ด้านคุณภาพและมาตรการสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ
2) การพัฒนาศักยภาพด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรต่างประเทศ เช่น ส่งเสริมการประสานงาน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดต่างประเทศ การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลด้านความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดต่างประเทศทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
3) การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศผู้ให้และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้แก่ภูมิภาคต่างๆ
และ 4) การพัฒนาการบริหารจัดการด้านการเกษตรต่างประเทศ เช่น จัดทำระบบมาตรฐานสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ สนับสนุนการปรับปรุงองค์กรและการบริหารงานของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการเกษตรต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการขยายตัวด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ ทั้งนี้ การทำงานของสำนักงาน ที่ปรึกษาฯ นอกจากการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าเกษตรไทยด้วย เพื่อให้เกิดการขยายตลาดและมูลค่าการส่งออก โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อพัฒนาให้การเกษตรไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนและส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ทั่วโลก