อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษขึ้นมาดูแล เพราะการออกมาตรการที่ผิดธรรมชาติอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาคมโลก แต่เห็นว่าควรจะมีการลดดอกเบี้ยให้อยู่ใกล้เคียงธรรมชาติ เพราะดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันถือว่าสูงผิดธรรมชาติ การลดดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงธรรมชาติ น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็คงไม่ใช่นโยบายเดียวที่จะใช้ได้ผล
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อครั้งเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 31 บาท/ดอลลาร์ และได้มีการติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ซึ่งต้องการเห็นเงินบาทมีเสถียรภาพ ปัจจุบันเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อภาคการส่งออก แม้ว่าการส่งออกอาจจะไม่ใช่ตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเหมือนในอดีต แต่ก็มีส่วนสำคัญในการจ้างงาน จึงหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการทบทวนความกังวลของรัฐบาล
"อยากให้ทบทวนความกังวลของรัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการแทรกแซง หวังที่เราจะทำงานด้วยกันเพื่อเสถียรภาพของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว รัฐบาลได้มีโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และจะมีการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งจะช่วยประคองไม่ให้เงินตราต่างประเทศไหลออก ซึ่งจะช่วยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนได้บางส่วน แต่ยังเป็นมาตรการระยะยาว เนื่องจากกระบวนการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างยังต้องใช้เวลา กว่าจะเริ่มกระบวนจริงอาจจะเป็นปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ดังนั้นในระยะสั้น สถานการณ์เงินไหลเข้ายังต้องติดตาม"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนภาคตลาดทุนมองว่า ที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.) ได้มีการออกมาเตือนหุ้นที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างรวดเร็วด้วยมาตรการ Cash Balance เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไร เห็นว่ามาตรการที่ใช้อยู่ยังเหมาะสม ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ควรให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนด้วย