In Focusตลาดโลกอึ้ง IMF จับมือยูโรโซนผุดปฏิบัติการ "ปล้นกลางแดด" ไซปรัส

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 20, 2013 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. 2518 คนทั่วโลกต่างฮือฮากับการเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง "ปล้นกลางแดด" หรือชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Dog Day Afternoon" นำแสดงโดยพระเอกระดับรางวัลออสการ์อย่าง อัล ปาชิโน ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมก้องโลกชื่อ "The Boys in the Bank" ของพอล เฟรเดอริค คลูจ เล่าขานถึงสองหนุ่มคู่เกย์ที่ถูกความจนวิ่งชนกับความทะเยอทะยาน จนถึงขั้นยอมควงปืนเข้าปล้นธนาคารเชสต์แมนฮัทตัน ท่ามกลางแดดร้อนระอุในเมืองบรู๊คลิน ใจกลางมหานครนิวยอร์ก และจับประชาชนเป็นตัวประกัน หนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังก็เพราะฉากที่แสดงถึงอาการของคนที่ตกเป็นตัวประกัน เกิดมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นคนร้าย หลังจากต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง อาการเช่นนี้นักจิตวิทยาเรียกว่า อาการ Stockholm Syndrome (สต็อกโฮล์ม ซินโดรม) รวมทั้งพล็อตเรื่องอันแสบสันต์ที่โจรทั้งสองพบว่า ในตู้เซฟของธนาคารแทบจะไม่มีเงินเหลืออยู่เลย

กระทั่ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกต่างตกอยู่ในอาการช็อคถล่ม เมื่อมีข่าวว่ายูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือไซปรัสวงเงิน 1 หมื่นล้านยูโรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงช่วยเหลือดังกล่าวระบุว่าผู้ฝากเงินในธนาคารของไซปรัสจะถูกเก็บภาษีแบบครั้งเดียว (one-off) สำหรับเงินฝาก มีหลายคำถามตามมาว่า ทำไมจึงต้องจับตาไซปรัส ทั้งๆที่ไซปรัสเป็นเพียงเกาะเล็กๆในสหภาพยุโรปที่มีประชากรราว 1 ล้านคน และเศรษฐกิจก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร และที่น่าสนใจก็คือ เงินที่ช่วยเหลือไซปรัสก็แค่ 1 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยก็เงินที่ไอเอ็มเอฟควักออกไปช่วยเหลือกรีซครั้งละเป็นแสนล้านยูโร อีกทั้งยังมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมขาใหญ่อย่างสหภาพยุโรปจึงบีบบังคับให้รัฐบาลไซปรัสเร่งออกกฎหมายสุดโหดที่เหมือนเป็นการปล้นเงินฝากของประชาชนเช่นนี้

นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า ที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะว่าระบบธนาคารในไซปรัสมีขนาดใหญ่ประมาณ 8 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา ไซปรัสถือเป็นแหล่งฝากเงินภาษีต่ำของทุกคนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาเศรษฐีชาวกรีซและรัสเซีย ตลอดจนคนยุโรปชาติอื่นๆ และธนาคารก็ได้เอาเงินฝากที่ได้มาไปลงทุนในที่ต่างๆ การกู้ยืมเงินจำนวน 1 หมื่นล้านยูโรรอบนี้ จะทำให้หนี้ภาครัฐของไซปรัสเพิ่มขึ้นเป็น 93% ของ GDP ซึ่งนับว่าสูงมากอยู่ และยากที่จะปรับให้ลดลงได้ในเวลาอันใกล้ เหตุผลเหล่านี้ทำให้รัฐบาลจำใจต้องกลืนยาขมกับเงื่อนไขข้อบังคับให้ไปเก็บภาษีจากผู้ฝากเงิน ที่เกินครึ่งเป็นผู้ฝากจากต่างประเทศ เพื่อผ่อนภาระของภาครัฐลงไปบางส่วน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายท่านแสดงความกังวลว่า วิกฤตการณ์ของไซปรัสจะจบลงในรูปแบบไหน รัฐบาลจะเก็บรายใหญ่เพิ่มอีกเท่าไร ต้องขอความช่วยเหลือจากยุโรปเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ไม่ว่าหนทางจะไปทางไหน สิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า วิกฤติในยุโรปยังไม่จบลง ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มมองว่า หายนะทางเศรษฐกิจการคลังของรัฐบาลไซปรัสนั้น เกิดขึ้นจากรากฐานของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเงินยูโรอย่างแท้จริงในปีพ.ศ.2551 เพราะก่อนหน้านั้น ไซปรัสได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งชาติหนึ่งในยุโรป ประชากรมีรายได้สูง แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาขัดแย้งทางชนชาติระหว่างพลเมืองเชื้อสายกรีกและเติร์ก จนถึงขั้นแบ่งแยกกันปกครอง

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาตร์ยังกล่าวด้วยว่า การเข้าร่วมเงินสกุลยูโรทำให้ไซปรัสมีปัญหาทางเศรษฐกิจร้ายแรงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลเข้าไปโอบอุ้มธนาคารพาณิชย์ซึ่งขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในตราสารหนี้ของธนาคารกรีซ กระทั่งเมื่อสถานะการคลังรัฐบาลเข้าข่ายหายนะและหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้าจะมีหนี้สาธารณะเกิน 100% ของจีดีพี

ทั้งนี้ แม้ว่าล่าสุดรัฐสภาไซปรัสมีมติปฏิเสธมาตรการจัดเก็บภาษีเงินฝากในระบบธนาคาร แต่เหรียญอีกด้านหนึ่งก็ส่องสะท้อนออกมาให้เห็นว่า ไซปรัสกำลังเผชิญกับทางตันอย่างแท้จริง เพราะการปฏิเสธมาตรการเก็บภาษีเงินฝากก็เท่ากับว่าไซปรัสกำลังทำให้ประเทศตนเองเผชิญความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้อย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้

วิกฤตที่เกิดขึ้นกับไซปรัสส่งสัญญาณว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะของเงินยูโรในอนาคตอันใกล้ และเป็นสถานการณ์ที่ควรจับตามองอย่างไม่กระพริบตา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ