ทั้งนี้ ประเด็นที่เอกชนได้แสดงควมเป็นห่วง ได้แก่ เรื่องของปัญหาการเวนคืนที่ดิน และค่าปรับหากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และกรณีการปรับวงเงินในการก่อสร้างแก้มลิง
นายธงทอง ชี้แจงว่า กรณีการก่อสร้างล่าช้าซึ่งเกิดจากการดำเนินงานของข้าราชการที่ไม่เป็นไปตามปกติ หรือการสำรวจผลกระทบไม่ผ่านความเห็นชอบ หรืองานนั้นๆเกินความควบคุม รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปได้ แต่ต้องพิจารณาว่ากลุ่มบริษัทนั้นๆดำเนินการอย่างเต็มความสามารถแล้วด้วย
ส่วนกรณีที่อัตราภาษีปรับขึ้น หรือค่าเวนคืนที่ดินที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้ประชาชนนั้น จะต้องรวมอยู่ในราคาสูงสุดที่กลุ่มบริษัทได้เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเท่านั้น จะไม่มีการเพิ่มวงเงินหรือคิดเงินจากแหล่งอื่นอีก ซึ่งการออกข้อกำหนดทั้งหมด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเรียกร้องให้เลื่อนวันส่งแผนงาน ขอปรับเปลี่ยนทีโออาร์ และเลื่อนเวลาการตั้งคำถามนั้น คณะกรรมการฯ ยืนยันว่าจะไม่ปรับแก้ไข เพราะได้พิจารณาทีโออาร์อย่างรอบคอบ ส่วนระยะเวลาก็ถูกกำหนดตามหลักเกณฑ์การกู้เงินที่จะต้องทำสัญญาภายในเดือน มิ.ย.นี้
อนึ่ง สำหรับ 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกในการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ประกอบด้วย 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(K-Water) 2.ITD POWER CHINA JV 3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย 6.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ (LOXLEY)