โดยขณะนี้ กรมฯ มีแผนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดท่าทีในการเจรจาตามมาตรา 190 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาโดยตลอด และในปีนี้มีกำหนดจะจัดรับฟังความคิดเห็นอีก 4 ครั้ง โดยครั้งแรกจะจัดที่ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 25 มี.ค.56 ภายใต้หัวข้อ "เอฟทีเอไทย-เอฟตา:โอกาสและความท้าทาย" และอยู่ระหว่างการกำหนดที่จะเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป
"กรมฯ จะเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลสถานะล่าสุด ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยกับกลุ่มเอฟตา ซึ่งจะครอบคลุมผลการศึกษา แนวทางและผลกระทบของการจัดทำความตกลงฯ เพื่อประกอบการจัดทำร่างกรอบการเจรจาความตกลง และท่าทีการเจรจาของฝ่ายไทย" นางพิรมล กล่าว
สำหรับการเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ไทย-เอฟตา ได้เคยเจรจากันมาแล้ว 2 รอบ แต่การเจรจาได้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเมื่อปี 49 หลังจากนั้นเอฟตาได้ขอให้ไทยกลับมาเจรจาต่อ และเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการเจรจาต่อ ไทยก็พร้อมเดินหน้าผลักดันการเจรจาต่อไป
ปัจจุบันเอฟตา ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ เป็นตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพของไทย โดยมูลค่าการค้ากับไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยในช่วง 3 ปี(53-55) มีมูลค่า 12,561 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปี 55 มีมูลค่าการค้ารวม 13,455 ล้านเหรียญสหรัฐ