"ขณะนี้ประเทศไทยได้มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้มีการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจหรือโซนนิ่ง เพื่อปรับระบบการผลิตและตลาดให้มีความสอดคล้องกัน" นายยุคล กล่าว
รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้มอบเป็นนโยบายให้แก่อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ถือเป็นตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ไทยรับทราบและร่วมผลักดันการค้าสินค้าเกษตรของไทยในตลาดต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น คือ 1.การเผยแพร่ข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศ ทั้งช่วงการผลิต ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด กฎระเบียบการนำเข้าส่งออกสินค้า พืชที่มีการส่งเสริม รวมถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรอย่างรอบด้านไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นทูตเกษตรสามารถเชื่อมโยงจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรที่กระทรวงเกษตรฯ จะจัดทำขึ้น หากนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่มีความเกี่ยวข้องในเชิงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน หรือกฎระเบียบที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดขึ้นใหม่ให้ทางกระทรวงรับทราบอย่างต่อเนื่อง
2.การผลักดันนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกที่รัฐบาลเน้นย้ำและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องของการทำโซนนิ่งที่จะเห็นความชัดเจนในเรื่องของพื้นที่การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานที่เกิดความสมดุลมากยิ่งขึ้น
และ 3.ให้สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรในแต่ละประเทศ ทำแผนงานหรือโครงการที่จะส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรให้ผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ได้รับทราบ โดยพิจารณาจากรสนิยม ความต้องการการบริโภคของประชาชนในประเทศนั้นๆ ว่าต้องการสินค้าอย่างไร และส่งข้อมูลกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดเป็นแนวนโยบายในการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
นอกจาก สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรที่ปัจจุบันมีอยู่ 8 แห่งแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังมีแนวคิดที่จะเพิ่มสำนักงานฯ ที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเป็นฐานในการขยายตลาดสินค้าเกษตรได้มากโดยเฉพาะอาหารฮาลาลที่ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิต ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนเองซึ่งจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 กระทรวงเกษตรฯ จะมีการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งในการให้สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรประจำกรุงจาการ์เข้ามาดูแลในส่วนของอาเซียนด้วย