เบื้องต้นประเมินค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปี 56 อยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)อยู่ที่ระดับ 4.8% สอดคล้องกับช่วงประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 4.3-5.3% ขณะที่การส่งออกจะขยายตัว 10.5% โดยสอดคล้องกับประมาณการฯในช่วง 8.0-13.0%
แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีนี้แข็งค่าขึ้นไปเป็น 28.90 บาท/ดอลลาร์ GDP ก็จะขยายตัวลดลงเหลือ 4.2% การส่งออกจะขยายตัว 6.5% และ หากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไปอยู่ที่ 27.90 บาท/ดอลลาร์ GDP จะขยายเหลือแค่ 3.0% การส่งออกขยายตัวได้เพียง 2.5% ทั้งนี้ อยู่ภายใต้การประเมินว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1.0% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกประมาณ 0.6-1.1% และกระทบต่อ GDP ราว 0.1-0.3%
"การแข็งค่าของเงินบาทตอนนี้มีความร้อนแรงเป็นพิเศษจากการเก็งกำไรของนักลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยน มองว่าไทยยังมีความเสี่ยงจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องไปอีก 1 ปี"นายเชาว์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเชาว์ ไม่เห็นด้วยหากมีการใช้มาตรการที่ไม่เหมาะสมมาดูแลปัญหาดังกล่าว เช่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลง เพราะมองว่าอาจทำให้มีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นแรงกดดันให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การก่อหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจไทยที่จะนำไปสู่การท้าทายในอนาคตได้
แต่หากใช้มาตรการด้านภาษีก็อาจจะเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดได้ เนื่องจากเป็นการกีดกันไม่ให้เงินไหลเข้ามาลงทุน รวมถึงหากใช้ capital control ก็จะต้องชี้แจงต่อประเทศอื่นๆถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการดังกล่าว
ด้าน น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์มียอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลต่อ GDP ในปี 55 อยู่ที่ 19.9% ขยับสูงขึ้นกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เนื่องจากราคาคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงกังวลว่าจะก่อให้เกิดภาวะหนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 2 ปี โดยจะเพิ่มขึ้นถึง 21-22% ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่ของประเทศ
แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว โดยเศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่ในทุกๆด้าน ปัญหาเรื่องฟองสบู่ไม่น่าจะมีผล เพราะยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมารองรับ ทั้งนี้มองว่าปัญหาหนี้สินจากหนี้ครัวเรือนจะเป็นแรงกดกันไม่ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อดูแลค่าเงินบาท
ส่วนนางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการฯ กล่าวถึงดัชนีบทบาททางเศรษฐกิจใน CLMV ในช่วงไตรมาส 4/55 และแนวโน้มปี 56 ว่า เมื่อเทียบกับขนาดประเทศที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) โดยภาพรวมนับว่าจีนมีบทบาทสูงสุดในภูมิภาคนี้ ขณะที่ไทยมีบทบาทรองลงมาเป็นอันดับ 2 และญี่ปุ่นเป็นอันดับ 3 และมีความเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นจะขึ้นแซงไทยภายในไตรมาส 1/57 เนื่องจากญี่ปุ่นลงทุนในเวียนนามเพิ่มขึ้นถึง 38% ในปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการลงทุนในเมียนมาร์
ขณะที่ไทยเองมีบทบาทสูงสุดในด้านการท่องเที่ยว และเป็นอันดับ 2 ในด้านการค้าแต่ยังตามหลังหลายประเทศในด้านการลงทุน ซึ่ง CLMV-EPI ของไทยในไตรมาส 4/55 รักษาระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่ดัชนีของจีนและญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลของการเร่งตัวในด้านการค้าการลงทุน
อย่างไรก็ตามโอกาสทางธุรกิจของไทยในด้านของโลจิสติกส์ ไทยยังเป็นประตูสำคัญทั้งภายในภูมิภาคและข้ามภูมิภาค ที่จะรวมไปถึงการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย พร้อมทั้งจะพาดผ่านผืนแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ เมื่อระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค(GMS Economic Corridors) และทางรถไฟสายเอเชียเปิดใช้การได้ครอบคลุมมากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรม ไทยควรวางบทบาทเป็นสำนักงานปฎิบัติการภูมิภาคของบริษัทต่างชาติและไทยเอง เพื่อให้เกิดการผลิตภายในประเทศ กับเพิ่มฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านในส่วนของทรัพยากรและแรงงาน ตลอดจนการกระจายสินค้าในตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ส่วนภาคบริการไทยยังมีโอกาสเป็นศูนย์กลางในด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา