รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยังย้ำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบัน ขณะเดียวกันยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการออกมาตรการเพื่อสะกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ทางการจะไม่มีการออกมาตรการที่อยู่นอกเหนือจากมาตรการที่มีอยู่มาดูแลค่าเงินบาท ส่วนการใช้นโยบายการเงิน เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณา พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ใช้มาตรการสกัดเงินไหลเข้าเหมือนในอดีต เพราะเป็นมาตรการที่ไม่เป็นที่ยอมรับและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และจะไม่ออกมาตรการที่สร้างความประปลาดใจต่อตลาด
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีเงินไหลเข้าในภูมิภาคเอเชีย และเข้ามาในไทยมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งหากมองในแง่ดีอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง มีการวางนโยบายเป็นที่น่าพอใจของนักลงทุน และทำให้บริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือปรับเพิ่มเครดิตให้ไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตเช่นกันว่า เมื่อไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตแล้วควรจะมีผลต่อการออกตราสารหนี้ให้ได้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำลง แต่กลับยังไม่เห็นการดำเนินการ
นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าคงไม่เห็นเงินบาทแข็งค่าไปถึง 27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่าลงจากนี้จะมีกลไกทำงาน ทั้งภาคการส่งออกที่จะขยายตัวกว่าที่ควรจะเป็น หรือหดตัวลง และกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน ประเทศเริ่มขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสพัด ซึ่งจะทำให้กลไกปรับตัว แต่เมื่อถึงเวลานั้นจะเป็นปัญหาที่สร้างความยุ่งยากที่จะแก้ไขและรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดขึ้น