หากประเทศไทยสามารถพัฒนาใน 3 ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป มีการลงทุนจากภาครัฐต่อเนื่องและชัดเจน โดยไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน จะเอื้อให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยแคบลง โดยคนจนจะรวยขึ้นกว่าคนรวยที่รวยขึ้น
นายกิตติรัตน์ กล่าวในงานสัมมนา CEO Economic Outlook 2013 เรื่อง"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 56 และการเตรียมตัวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ว่า ในปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตรา 6.4% แต่เมื่อรวมเงินเฟ้อที่ 3% ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Norminal GDP) จะอยู่ที่ 10% โดย GDP อยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42%ของจีดีพี ยังไกลกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 60%ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาระบบการคมนาคมขนส่งทางบกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการใช้พลังงานในการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 35%ของจีดีพี การใช้พลังงานในภาคการผลิตอีก 36-37% ของจีดีพี และยังมีความเข้าใจไขว้เขวว่าพลังงานได้มาฟรีจากอ่าวไทย ทั้งที่เป็นระบบการให้สัมปทาน และคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า NGV จะหมดจากอ่าวไทยในอีก 8 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะเป็นส่วนหนึ่งในการขจัดความด้อยประสิทธิภาพของประเทศ โดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้ถึงเฉลี่ย 7% ขณะเดียวกัน หากมีการดำเนินโยบายเศรษฐกิจให้มีคุณภาพและยั่งยืนต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ การปรับปรุงการกระจายรายได้ ไม่ให้เกิดการรวยอย่างกระจุกตัว ทำให้เกิดกำลังซื้อมากขึ้น รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราแลกเปลี่ยน ระดับราคาสินค้า ที่ต้องไม่ผันผวน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิต และการขจัดความด้อยประสิทธิภาพโดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง
"หากทั้งทำทั้ง 3 เรื่องจะทำให้จีดีพีโตได้ 7% แต่ปีที่แล้วเศรษฐกิจโตได้ 6.4% หายไป 0.6% น่าจะเกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายล่าช้า...ปีงบประมาณ 56 การใช้จ่ายภาครัฐจะไม่มีความล่าช้าเพราะมีการติดตามความคืบหน้าจริงจัง และปีงบ 57 จะเห็นชัดเจนขึ้น เพราะมีกระบวนการใช้จ่ายที่ต้องเร่งรัด" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ประเทศไทยมองไปข้างหน้าจะมีการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่ง และรัฐบาลมีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อม เพิ่มศักยภาพและได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ขระเดียวกันมองไปข้างหน้า ในปี 63 ได้วางเป้าหมายให้ไทยมีประสิทธิมีความพร้อมใน 3 ด้านที่กล่าวมา เพราะตลอด 7 ปีของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพื่อให้ไทยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกมาเกินไป รัฐบาลมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน โดยไม่ต้องรอการจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี และจะเป็นการเอื้ออำนวยให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น