เนื่องจากปริมาณยางพาราที่มีการส่งออกผ่านทางด่านสะเดา จ.สงขลา ในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 41,000 ล้านบาท โดยเป็นน้ำยางข้นมูลค่า 31,000 ล้านบาท หรือปริมาณร้อยละ 75 ของยางที่ส่งออกมายังประเทศมาเลเซีย ซึ่งถ้ามีเมืองรับเบอร์ ซิตี้ แทนที่ประเทศไทยจะส่งออกมาในรูปของวัตถุดิบ ก็เปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของยางพาราจะทำให้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศมากกว่า
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาหาปริมาณพื้นที่และพื้นที่ที่เหมาะสม อาจจะเป็นบริเวณด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา หรือ นิคมอุตสาหกรรมฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนในเรื่องของกรรมสิทธิ์พื้นที่ ต้องดูว่าจะเอาพื้นที่ไหน ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ และใครเป็นผู้ลงทุน รวมทั้งเรื่องของการคมนาคมและระบบโลจิสต์ติก ซึ่งการเดินทางไปมาเลเซียในครั้งนี้ เป็นเพียงการหารือและสำรวจพื้นที่เบื้องต้น
“รัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลไทยมีความสนใจในการพัฒนาความร่วมมือโครงการรับเบอร์ ซิตี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าขายยางพาราและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และในปี 2558 ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อม และพัฒนาศักยภาพการส่งออกยางพาราให้มีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด ซึ่งเป็นที่ทราบดีกว่าปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบยางพารารายสำคัญให้กับประเทศมาเลเซีย หากไทยกับมาเลเซียหันมาจับมือกันหรือลงทุนร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมยางของทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็งในทุกด้านมากยิ่งขึ้น" นายยุทธพงศ์ กล่าว
ด้านนายกฤต ไกรจิตติ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศมาเลเซีย ได้ให้ความเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยร่วมกับการพัฒนาพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งโครงการรับเบอร์ ซิตี้ ที่ทางมาเลเซียได้ให้ทางไทยเข้ามาสนับสนุนร่วมกัน ในการที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยร่วมกันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยางพาราที่สำคัญของโลก ซึ่งความคืบหน้าของโครงการฯดังกล่าว ขณะนี้ทางมาเลเซียได้กำหนดไว้อยู่ในแผนการพัฒนาของทางภาคเหนือ ส่วนของไทยกำลังดูความเหมาะสมของพื้นที่