สำหรับความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าเกษตร (Boston Consulting Group Matrix : BCG Matrix) ในตลาดอาเซียน ช่วง ปี 2548 - 2552 พบว่า ข้าวไทย อยู่ในตำแหน่งรองจากข้าวเวียดนามในเชิงมูลค่าส่งออก สาเหตุจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่า และคุณภาพดีกว่าข้าวเวียดนาม ไทยจึงสูญเสียตลาดข้าวให้เวียดนาม โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดอาเซียน อย่างไรก็ตาม นับได้ว่า ประเทศไทยมีข้าวที่มีคุณภาพ และมาตรฐานในการส่งออกในตลาดสินค้าข้าวอันดับ 1 ของโลกอยู่
ยางพาราไทย อยู่ในตำแหน่งสินค้าที่ยังทำเงิน เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่การส่งออกมีอัตราการขยายตัวลดลง สะท้อนให้เห็นว่ายางพาราไทยค่อนข้างอิ่มตัว ไทยอาจสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามได้ ส่วนยางพาราเวียดนาม อยู่ในตำแหน่งสินค้าตกต่ำ เนื่องจากอัตราการขยายตัวการส่งออกยางพาราของเวียดนามลดลง
กุ้งไทย อยู่ในตำแหน่งสินค้าที่มีปัญหา เนื่องจากตลาดสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ลดการบริโภคกุ้ง ส่วนกุ้งเวียดนาม อยู่ในตำแหน่งสินค้าตกต่ำ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด และอากาศที่แปรปรวน ผลผลิตเสียหาย
ด้านกาแฟไทย อยู่ในตำแหน่งสินค้าที่มีปัญหา เนื่องจากผลผลิตใช้ในโรงงานแปรรูปในประเทศเกือบทั้งหมด ทำให้ส่งออกเมล็ดกาแฟน้อย ส่วนกาแฟเวียดนาม อยู่ในตำแหน่งที่ยังทำเงิน เนื่องจากเป็นผู้ผลิตกาแฟอันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้ผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตา อันดับ 1 ของโลก
ดังนั้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียนและในตลาดโลก ไทยต้องมีมาตรการลดต้นทุนการผลิต และเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขยายตลาด และพัฒนาระบบโลจิสติกส์