สศก.คาดภาวะศก.การเกษตร Q1/56 หดตัว 0.4%จากภัยแล้ง แต่ทั้งปียังขยายตัว 3.5-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2556 พบว่า หดตัวลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2555 น้อยกว่าปี 2554 ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำลดลง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงฤดูฝนของปี 2555 เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดวิกฤตน้ำท่วมเช่นเดียวกับปี 2554 ทำให้ในปี 2556 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ลดลง โดยสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ได้ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปลูกข้าว สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์และการทำประมงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงนี้ ค่อนข้างน้อย

ขณะที่การผลิตภาคเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2556 ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะ ฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตรและการเตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ หากในเดือนพฤษภาคม 2556 ไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง คาดว่าผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 คาดว่า ภาพรวมทั้งปี 2556 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 จะปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ได้ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งในส่วนของผลผลิตข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งประเทศมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ประกาศให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังในบางพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าแทน สำหรับผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในช่วงของการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ