สศก. เผยพม่าพร้อมร่วมมือด้านการค้า-การลงทุนด้านการเกษตรเพื่อรองรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาศักยภาพการเกษตรของสหภาพเมียนมาร์ รวมทั้งได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การเกษตรในพื้นที่ต่างๆ เช่น ย่างกุ้ง ตองอู หงสาวดี และอื่นๆ ซึ่งจากการศึกษา พบว่า เป้าหมายของภาคการเกษตรของเมียนมาร์ ได้มุ่งเน้นความสำคัญกับการผลิตเพื่อสนองความต้องการบริโภคภายใน (Priority to fulfill the needs of local consumption) และการส่งออกส่วนที่เกินเพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศ (Export the surplus of agricultural products earn foreign exchange) รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการเกษตรสู่พื้นที่เกษตรชนบท (Assistance to rural development trough agricultural development)

สำหรับสถานการณ์การเกษตรในเมียนมาร์ พบว่า ด้านการผลิต เมียนมาร์สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้หลายชนิด และส่วนใหญ่เป็นชนิดเดียวกันกับที่ไทยผลิต ได้แก่ ข้าว ถั่วต่างๆ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สินค้าประมง และปศุสัตว์ ซึ่งการผลิตเป็นการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก มีการใช้เครื่องจักรน้อยมาก ขาดเทคโนโลยีการผลิตที่จะช่วยให้เป็นการผลิตขนาดใหญ่ แต่ผลผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากเมียนมาร์มีทรัพยากรการผลิตทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น ดิน และน้ำ เกษตรกรจะปลูกถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียวผิดดำ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วลิสง หลังทำนา ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้แล้วยังเป็นการปรับปรุงบำรุงดินด้วย เมียนมาร์มีการกำหนดเขตการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน และมีการบริหารจัดการตามที่ได้กำหนดเขตไว้อย่างเข้มข้น

การแปรรูป เมียนมาร์สามารถแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่าย เทคโนโลยีการแปรรูปอยู่ในระดับต่ำ ต้องการความร่วมมือและลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปขั้นสูง เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพดี และปริมาณมาก เช่น โรงสีข้าวขนาดใหญ่ โรงงานแปรรูปพืชผัก อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเล และสินค้าเกษตรอื่นๆ การส่งออก เมียนมาร์เน้นการผลิตเพื่อเพียงพอต่อการบริโภคภายใน และมีเป้าหมายในการส่งออกเพิ่มขึ้นภายใน 3 ปี (2558) เมียนมาร์มีการส่งออกพืชไร่และถั่วประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก ไปยังอินเดีย สินค้าประมง (ปลาและกุ้ง) ส่งออกไปยังจีน และ การลงทุนด้านการเกษตร เมียนมาร์ให้ความสนใจความร่วมมือการลงทุนด้านการเกษตรทุกรูปแบบทั้งเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป และอื่นๆ โดยนักลงทุนจากต่างประเทศสามารถลงทุนทั้งในรูปแบบการขอรับสัมปทาน การลงทุนร่วมกัน (joint venture) การเช่าที่ดิน (land rent) และรูปแบบอื่นๆ เพื่อการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยขณะนี้รัฐสภาเมียนมาร์ อยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฏหมายการลงทุนฉบับใหม่ สำหรับชาวต่างชาติที่จะไปลงทุนคาดว่าจะออกภายในระยะเวลา 3 เดือนจากนี้ไป ซึ่งกฎหมายใหม่จะมีรายละเอียดของระบบการเช่าที่ดิน ปริมาณหรือขนาดของที่ดิน ระยะเวลาอัตราการเช่า และแรงจูงใจอื่น ๆ ที่จะดึงดูดนักลงทุนทางการเกษตรจากต่างชาติ

นอกจากนี้ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคมขนส่ง ถนนทั้งในตัวเมืองและเส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองเป็นถนน 2 ช่องทางวิ่งสวนกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงขนานใหญ่ในทุกเมืองหลัก โดยเฉพาะในย่างกุ้งมีการก่อสร้างเกือบทุกพื้นที่ ส่งผลให้การจราจรติดขัดมาก และคาดว่าภายในปี 2558 จะดีขึ้นทั้งสภาพถนนและการจราจร สำหรับเมืองเนปิดอร์สร้างไว้รองรับความเจริญในอนาคต มีการจัดผังเมืองไว้อย่างสวยงาม ถนนมีตั้งแต่ 2-12 ช่องทาง ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องมือเครื่องจักรสำหรับการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร เริ่มจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ยังใช้ไม่แพร่หลาย ขาดรถบรรทุกสำหรับขนส่งสินค้าเกษตร เกษตรกรใช้วัวเทียมเกวียนในการขนส่งสินค้าไปยังแหล่งรวบรวมในท้องถิ่น และใช้รถบรรทุกขนาดเล็กขนส่งระหว่างเมือง และพบว่าไฟฟ้าในเมืองใหญ่ของเมียนมาร์ยังไม่เพียงพอ ไม่ต่อเนื่อง และบางพื้นที่นอกเมืองใหญ่ยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ เป็นอุปสรรคของการผลิตสินค้า เนื่องจากต้องหยุดทำการผลิตในช่วงไฟฟ้าดับ รวมทั้งเครื่องจักรอาจเกิดความเสียหายได้ สำหรับระบบประปามีเฉพาะในเมืองใหญ่ นอกเมืองและเขตชนบทจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก

สำหรับข้อเสนอแนะและแนวทางความร่วมมือ ควรเจรจาให้รัฐบาลเมียนมาร์ ให้ความสำคัญนักลงทุนจากชาติที่เป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นลำดับแรกก่อน และการลงทุนควรเป็นลักษณะการร่วมทุน เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งจากการที่ สศก. ได้เข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและชลประทานของเมียนมาร์ ทางรัฐบาลของเมียนมาร์ยินดีและมีความต้องการด้านการลงทุนความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ทั้งกรณีของรัฐต่อรัฐ (G to G ) หรือเอกชนต่อรัฐหรือเอกชนก็ได้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งการเชื่อมโยงทิศทางการพัฒนากรอบความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึง

ทั้งนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการเกษตร และมีเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิต การแปรรูป ของอาเซียน จึงควรมีความร่วมมือด้านการเกษตรกับเมียนมาร์ทุกรูปแบบ (พืช ปศุสัตว์ ประมง) โดยการส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรร่วมกัน และอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนด้านการเกษตรในเมียนมาร์ ซึ่งยังต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอีกมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ