ผู้แทนการค้าไทย ตั้งทีมผู้ช่วยเจรจา 14 คณะเตรียมพร้อมก่อนบินถก FTA ไทย-EU

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานผู้แทนการค้าไทย(TTR) ตั้งทีมผู้ช่วยเจรจา 14 คณะเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ไทย-สหภาพยุโรป(EU) ก่อนเดินทางไปเจรจานัดแรกที่กรุงบรัสเซลในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ โดยยืนยันจะพิจารณาประเด็นที่มีความอ่อนไหว ทั้งเหล้า บุหรี่ และยา อย่างรอบคอบ

"ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมท่าทีในการเจรจาเอฟทีเอกับอียู โดยได้แต่งตั้งหัวหน้าทีมเจรจา 14 คณะ ให้ไปหารือ รับฟังความคิดเห็นจากแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบถึงผลดี ผลเสีย ผลกระทบ ที่จะมีต่อภาคประชาชน ผู้บริโภค ผู้ผลิต รวมไปถึงการพิจารณาถึงมาตรการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้ทำข้อสรุปเป็นท่าทีในเรื่องต่างๆ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะเจรจาชุดใหญ่ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะเดินทางไปเจรจากับอียูที่จะมีขึ้นครั้งแรกประมาณวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ที่บรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม โดยมีเป้าหมายจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 58" นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธาน TTR กล่าว

สำหรับข้อมูล 14 กลุ่มที่จะให้คณะผู้ช่วยเจรจาเข้าไปดูแล ได้แก่ 1.กลุ่มเจรจาการเปิดตลาดสินค้า 2.กลุ่มเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.กลุ่มเจรจาความร่วมมือทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.กลุ่มเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 5.กลุ่มเจรจามาตรการเยียวยาทางการค้า 6.กลุ่มเจรจามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7.กลุ่มเจรจาการค้าบริการ 8.กลุ่มเจรจาการลงทุน 9.กลุ่มเจรจาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 10.กลุ่มเจรจาทรัพย์สินทางปัญญา 11.กลุ่มเจรจานโยบายแข่งขัน 12.กลุ่มเจรจากลไกการระงับข้อพิพาท 13.กลุ่มเจรจาการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 14.กลุ่มเจรจาความโปร่งใสและการบริหารจัดการความตกลง

ประธาน TTR กล่าวว่า สำหรับประเด็นอ่อนไหวที่มีหลายกลุ่มแสดงความกังวล ทั้งการเจรจาลดภาษีสินค้าเหล้าและบุหรี่ หรือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะหัวหน้าทีมเจรจาในกลุ่มนี้ก็ต้องไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ใครมีปัญหาอะไร หรือมีข้อเสนออะไร ก็สามารถมาหารือในกลุ่มนี้ได้ เพราะรัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มก่อนที่จะไปกำหนดท่าทีเจรจาต่อไป ส่วนประเด็นที่น่าจะเจรจาได้ไม่ยากคือ การเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้า ซึ่งไทยจะผลักดันให้มีการลดภาษีสินค้านำเข้าให้เป็น 0% ทุกสินค้า และอียูจะต้องลดมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ที่มีอยู่ให้หมดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ