OECD มองว่าจีนจะได้ประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่อยู่อาศัย และการลงทุนทางธุรกิจที่ฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าการส่งออกจะยังคงชะลอตัวก็ตาม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 7.9% ในไตรมาส 4 ของปี 2555 ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่เร็วขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่อัตราขยายตัวตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.8% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2542
OECD ระบุว่า ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางนั้น จีนก็ยังคงสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังแบบระมัดระวังต่อไปได้ หากจำเป็น ซึ่งทาง OECD แนะว่าวิธีการที่เหมาะสมสำหรับจีนคือ การลดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่สถานการณ์ในต่างประเทศเลวร้ายกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้ โดยเฉพาะในยูโรโซน
นายอังเกล เกอร์เรีย เลขาธิการ OECD กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า ทางกลุ่มเชื่อในวิสัยทัศน์ด้านนโยบายของผู้บริหารประเทศชุดใหม่ของจีน
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจจีน ซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้ในประมาณปี 2559 เพราะได้ปัจจัยหนุนจากอำนาจซื้อในประเทศ
OECD ระบุว่าการรักษาแรงผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนให้รวดเร็วต่อไปได้นั้น จะต้องอาศัยการพัฒนาระดับความเป็นเมืองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนดำเนินนโยบายที่เป็นการปฏิรูป อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่อิงตามตลาด และการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนมีความหยืดหยุ่นมากขึ้น