ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วงเทียบดอลล์ เหตุนักลงทุนยังวิตกปัญหาไซปรัส

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 26, 2013 07:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรอ่อนตัวลงเมื่อเทียบดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 มี.ค.) เนื่องจากความกังวลที่ว่าข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินแก่ไซปรัสอาจจะไม่เพียงพอที่จะขจัดความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งอาจไม่สามารถสกัดการลุกลามของปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาค

ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.2863 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.2983 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.5181 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5220 ดอลลาร์สหรับ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.0458 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0445 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 94.01 เยน จากระดับ 94.44 เยน และขยับขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9480 ฟรังค์ จากระดับ 0.9412 ฟรังค์

ในช่วงแรก ยูโรดีดตัวขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) และไซปรัสได้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานเกี่ยวกับเงื่อนไขของมาตรการให้ความช่วยเหลือมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโรในวันนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตในภาคการธนาคารของไซปรัส และหลังจากนั้นไม่นาน รัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซนก็ได้อนุมัติข้อตกลงดังกล่าวข้อตกลงของไซปรัสกับกลุ่มทรอยกา ซึ่งประกอบด้วยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในการปรับโครงสร้างภาคการธนาคารของไซปรัส

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าข้อตกลงนี้ตอกย้ำถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในยูโรโซน และตลาดอาจจะคลายความกังวลเพียงชั่วคราว เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวอาจจะมีวงเงินไม่เพียงพอในระยะยาวที่จะช่วยให้ระบบการเงินของไซปรัสรอดพ้นจากการล่มสลาย

นอกจากนี้ เงินยูโรยังได้รับแรงกดดันสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (Istat) เปิดเผยวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอิตาลีในเดือนมี.ค.ลดลงแตะ 85.2 จาก 86.0 ในเดือนก.พ.

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลง 1 ขั้น สู่ระดับ BBB+ พร้อมกับให้แนวโน้มเชิงลบ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังจากที่ผลการเลือกตั้งของอิตาลีในเดือนที่แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตทั่วประเทศในเดือนก.พ.ดีดตัวขึ้นแตะ 0.44 จาก -0.49 ในเดือนม.ค. นำโดยดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งปรับขึ้นแตะ 0.34 ในเดือนก.พ. จาก -0.30 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีที่ต่ำกว่า 0 บ่งชี้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ดัชนีที่เป็นบวกแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวที่สูงกว่าแนวโน้ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ