ทั้งนี้หัวข้อหลัก ได้แก่ การส่งเสริมความมั่นคงอาหารผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคเกษตร การบริหารจัดการน้ำและดิน รวมถึงการนำเสนอสถานการณ์ และนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตรในปัจจุบันและอนาคตของสมาชิกเอเปค ซึ่งครั้งนั้น ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่าสมาชิกเอเปคควรให้ความสำคัญกับบทบาทของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (ดินและน้ำ) และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาการเกษตรต่อความมั่นคงอาหารอย่างยั่งยืนในลำดับต้น โดยควรดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการลงทุนด้านการวิจัย ความร่วมมือทางวิชาการ การปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกเอเปค การเตรียมการรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่นำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเรียนรู้พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ไขปัญหาดินดาน โดยการปลูกหญ้าแฝก ในการสร้างที่ดินทำกิน ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งได้รับความสนใจจากสมาชิกเอเปคที่เดินทางไปดูงานเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2556 ของ สศก. ภายใต้กรอบเอเปคนายอภิชาติ กล่าวว่า มีแนวทางเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับเกษตรกร โดยอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Farmers’ Day ภายใต้กรอบเอเปคในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2556 ณ เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรในเอเปค ทำให้สามารถรับรู้บทบาท ปัญหาของเกษตรกร การแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่อุปทาน การแสดงศักยภาพของเกษตรกรเพื่อให้เกิดความมั่นคงอาหารภายในชุมชน การแสดงเทคโนโลยี การผลิต และการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกรและภาคเอกชน โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรต่างๆ ของภาคเอกชน รวมถึงการศึกษาดูงานด้วย ซึ่งเกษตรกรจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีจากหลายเขตเศรษฐกิจเอเปค ตลอดจนสามารถนำมาเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองทั้งในด้านการผลิต และการตลาดได้ สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ (Flagship) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์