ยกตัวอย่างมันสำปะหลังยังถูกกัมพูชาแย่งขึ้นเป็นประเทศที่ส่งออกได้สูงสุดในอาเซียน แต่ไทยมีสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกได้เติบโตดีและมีความโดดเด่น คือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์, ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, ถ่านหิน, ผักและผลไม้, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, น้ำตาล, เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง, เหล็ก และผลิตภัณฑ์จากเหล็ก, เครื่องดื่มยาสูบ ดังนั้น ไทยจึงต้องปรับตัว และหาแนวทางเพิ่มการส่งออกสินค้าที่ไทยส่งออกได้น้อยให้กลับมาเพิ่มเหมือนเดิม โดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตร
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นดาวร่วง คือ ข้าว ส่วนแบ่งตลาดไทยในอาเซียนลดลง 10.41% ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 6.68% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยลดลง 0.04% แต่กัมพูชาเพิ่มขึ้น 20.10% ยางพาราไทยลดลง 2.91% แต่เวียดนามเพิ่มขึ้น 10.73% อาหารทะเลแปรรูปไทยลดลง 0.19% อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 4.89% สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยลดลง 2.27% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 2.38% ผลิตภัณฑ์ไม้ไทยลดลง 0.29% แต่พม่าเพิ่มขึ้น 1.84% ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ ไทยลดลง 4.44% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 9.67% ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไทยลดลง 0.70% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 1.01%
ทั้งนี้ การลงทุนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ที่ไปลงทุนในสิงคโปร์ยังคงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าการลงทุน 167,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 51,900 ล้านเหรียญฯ ตามด้วยมาเลเซีย 31,100 ล้านเหรียญฯ ส่วนไทยอยู่ที่ 4 มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามา 27,400 ล้านเหรียญฯ ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น
"ไม่อยากให้มองว่าไทยต้องไปแข่งขันเพื่อให้เป็นที่ 1 ในอาเซียน แต่ควรมองในเรื่องของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจอาเซียนในระยะยาว ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5% ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนแข็งค่าขึ้นประมาณ 1% นั้น ทำให้ความสามารถแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลง เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง 2.4%" นายอัทธ์กล่าว