กสิกรฯ แนะไทยเร่งยุทธศาสตร์“Thailand Plus 4" เพิ่มบทบาทเชิงรุกขยายจุดยืนในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำ ดัชนีบทบาททางเศรษฐกิจใน CLMV (CLMV Economic Presence Index หรือ CLMV-EPI) ประจำไตรมาส 1/2556 เพื่อชี้วัดบทบาทของประเทศในอาเซียน รวมถึงจีนและญี่ปุ่น ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ CLMV โดยประมวลจากมิติการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พบว่า จีน เป็นประเทศที่มีบทบาทสูงที่สุด ขณะที่ ไทย และญี่ปุ่น มีบทบาทรองลงมาเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ แต่แนวโน้มในระยะ 1-2 ปีข้างหน้านี้ มีความเป็นไปได้ว่า ญี่ปุ่นจะขึ้นแซงหน้าไทยขึ้นมามีบทบาทเป็นอันดับ 2 จากแนวโน้มการเร่งขยายลงทุนในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะเมียนมาร์ อันเป็นที่หมายตาของนักลงทุนจากทั้งญี่ปุ่น จีนและทั่วโลก ซึ่งนั่นหมายความว่า ไทยในฐานะผู้ที่เคยลงทุนสะสมรายใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และเมียนมาร์ กำลังมีบทบาทลดลง ซึ่งอาจจะมีผลให้ไทยถูกช่วงชิงเวทีในเศรษฐกิจประเทศ CLMV ในระยะยาวได้

จากดัชนีบทบาททางเศรษฐกิจใน CLMV ดังกล่าวข้างต้น เป็นภาพสะท้อนชี้ให้เห็นว่า ไทย ไม่ควรนิ่งนอนใจละทิ้งโอกาสการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาด CLMV ทั้งนี้ ด้วยที่ตั้งอันเป็นข้อได้เปรียบที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้พื้นที่โดยรวมของไทยและ CLMV นับเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ของอาเซียนที่มีพรมแดนเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างครอบคลุมตลอดแนวเหนือจรดใต้และตะวันออกจรดตะวันตก ดังนั้น ไทยสามารถพัฒนาบทบาททางเศรษฐกิจและเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจของไทยไปพร้อมๆกัน

ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นหลายรายเริ่มวางกลยุทธ์ทางธุรกิจในภูมิภาคอินโดจีน ภายใต้แนวคิด “Thailand +1” ที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงโครงข่ายทางธุรกิจ การผลิต และการทำตลาดภายในภูมิภาค แม้จะมีการกระจายการลงทุนออกไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนควบคู่ไปด้วย ส่งผลให้เครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงมีภาพของไทยอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์การลงทุนหลัก โดยไทยมีบทบาทเป็นฐานธุรกิจหลักทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจในเครือที่ต่อขยายไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV

ในทำนองเดียวกัน สำหรับธุรกิจไทยสามารถจับกลยุทธ์ “Thailand +1” มาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจไทย โดยการวางจุดยืนของไทยเชื่อมโยงโครงข่ายทางธุรกิจ การผลิต และการตลาดของไทยกับประเทศ CLMV หรือในที่นี้จะเรียกว่า “Thailand Plus 4”

อย่างไรก็ดี การสร้างจุดยืนไทยในฐานะการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงโครงข่ายทางธุรกิจ การผลิต และการตลาดกับประเทศ CLMV ที่อยู่แวดล้อมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “Thailand Plus 4” จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและศักยภาพของไทย เพื่อรองรับการไหลเวียนของกิจกรรมเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในอนุภูมิภาคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการต่อยอดจากจุดแข็งของทั้งไทยและ CLMV ซึ่งคงต้องอาศัยการปรับตัวและความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนผสานกันขึ้นมา

ในส่วนของภาครัฐนั้น จำเป็นมีการวางนโยบายและพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้ดำรงความสามารถในการเป็นศูนย์กลางไว้ได้ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์อย่างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมและโลจิส ติกส์ของประเทศรองรับสถานะการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างไทยและ 4 ประเทศ CLMV อย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมในด้านซอฟท์แวร์ อาทิ ระบบการชำระเงิน การพัฒนาธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนการปรับปรุงนโยบายและสิทธิประโยชน์หรือสิ่งจูงใจในการลงทุนในไทย เพื่อให้ไทยยังรักษาสถานะขีดความสามารถเชิงยุทธศาสตร์ไว้ได้ตลอดไป

ขณะที่ภาคเอกชนไทย สามารถใช้จุดแข็งของไทยในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายกิจกรรมธุรกิจด้านการผลิตและการตลาดในแต่ละประเทศ CLMV ให้เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงของห่วงโซ่ธุรกิจของตน

"การปรับแนวความคิดในการรักษาตลาดและพึ่งพาการผลิตภายในประเทศ สู่การก้าวออกไปขยายตลาดและฐานการผลิตในต่างประเทศ ประจวบกับปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าในช่วงเวลานี้ และค่าจ้างแรงงานในประเทศปรับสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการออกไปขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในระดับธุรกิจแล้ว ยังเป็นผลดีต่อสถานะโดยรวมของประเทศไทยในเวที CLMV ที่กำลังถูกเบียดบังส่วนแบ่งออกไปเรื่อยๆ" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ