ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการผลิตแล้ว 6 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังยางพาราปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการผลิตสินค้าปศุสัตว์ 5 ชนิดได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ และในเร็วๆนี้จะประกาศอีก 7 ชนิดพืช เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหัวหอกที่สำคัญของจังหวัด คือ การเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่ได้เป็นประกาศเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับพืช ปศุสัตว์ และประมงไปแล้ว ทางจังหวัดจะต้องทำแผนงานหรือโครงการที่จะให้ภาครัฐให้การสนับนุนอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ข้อมูลการตลาดเป็นตัวกำหนดปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกัน ทั้งการบริโภคในพื้นที่ การแปรรูป การเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และการส่งออก
สำหรับในส่วนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและพื้นที่ป่า ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มีการออกประกาศนั้น ทางจังหวัดจะต้องเข้าไปตรวจสอบหรือรับฟังข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ว่าแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพหรือการทำการเกษตรชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกว่า หรือแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องที่ดินทำกินและการจัดการผลผลิตการเกษตรจากพื้นที่ป่าด้วย ซึ่งเมื่อกระทรวงเกษตรฯ ได้รับข้อมูลดังกล่าวจากทางจังหวัดภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้แล้ว ก็จะรวบรวมเพื่อเสนอรัฐบาลในการกำหนดนโยบายหรือโครงการในการสนับสนุนการพัฒนาการผลิต หรือปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรของประเทศให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ โดยยึดตลาดเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ก็คาดว่าจะทำให้แผนดำเนินการโซนนิ่งเกิดภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ทางจังหวัดยังสามารถนำข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัด เพื่อปรับเปลี่ยนและวางแผนการผลิตการเกษตรแต่ละจังหวัดให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งระบบได้ ทั้งในเรื่องของการคมนาคม ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม แต่ในส่วนสินค้าเกษตรกลุ่มไหนที่ยังมีปัญหาที่นอกเหนือจากการจัดการในพื้นที่ก็สามารถส่งมายังกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการดูแลสินค้าเกษตร 11 คณะเพื่อให้การสนับสนุนได้