เงินบาทปิด 29.30/32 แข็งค่าสวนทางยูโร-ทุนยังไหลเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 29.30/32 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 29.33/35 บาท/ดอลลาร์
"วันนี้เงินบาทค่อนข้างแกว่ง และเริ่มมาแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่าย ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากเงินทุนไหลเข้าเป็นหลัก ในขณะที่วันนี้เงินยูโรร่วงลงไปมาก" นักบริหารเงินระบุ

โดยปัจจัยที่น่าจับตาสำหรับวันพรุ่งนี้ คือ ภาคการเงินการธนาคารของไซปรัสที่ต้องดูว่าเมื่อธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องกลับมาเปิดทำการในวันพรุ่งนี้ตามคำสั่งของธนาคารกลางไซปรัสแล้ว จะมีประชาชนแห่มาถอนเงินออกจากธนาคารอีกหรือไม่

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.25-29.35 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 94.55/59 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 94.65 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2807/2809 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2860 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดช่วงบ่ายที่ระดับ 1,560.87 จุด เพิ่มขึ้น 16.84 จุด(+1.09%) มูลค่าการซื้อขาย 67,501.53 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ เผยตลาดหุ้นไทยวันนี้ผันผวนในแดนบวก มองว่ายังเป็นรอบของการรีบาวน์ต่อเนื่องหลังจากปรับลงไปแรงเมื่อสัปดาห์ก่อน มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยพรุ่งนี้มีโอกาสพักตัวหลังขึ้นมาแรงติดต่อกัน 3 วัน พร้อมให้กรอบดัชนีที่แนวรับ 1,555 จุด แนวต้าน 1,565-1,570 จุด
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,215.63 ลบ.(SET+MAI)
  • ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดวันนี้ปรับตัวขึ้นต่อเป็นวันที่ 2 หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเอเชียปรับตัวขึ้นรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ
  • จับตาธนาคารพาณิชย์ในไซปรัสที่จะต้องกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ตามคำสั่งของธนาคารกลาง ว่าจะมีประชาชนแห่มาถอนเงินสดออกจากธนาคารอีกหรือไม่
  • คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เปิดเผยรายงานรายไตรมาสฉบับล่าสุดว่าด้วยการจ้างงานและสถานการณ์ทางสังคมที่ระบุว่า วิกฤติทางสังคมมีความรุนแรงในยุโรป โดยอัตราว่างงานพุ่งขึ้นและภาคครัวเรือนดำรงชีพด้วยความยากลำบากมากขึ้น ท่ามกลางวิกฤติหนี้ที่ดำเนินมากว่า 3 ปี โดยในเดือนม.ค. มีจำนวนผู้ว่างงาน 26.2 ล้านคนในสหภาพยุโรป
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าภาคการเงินของอิตาลีมีเสถียรภาพ แต่การเติบโตที่ชะลอลงต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อธนาคารของอิตาลี
  • ธนาคารโลก(World Bank) ขานรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศ BRICS ที่จะจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยให้คำมั่นว่าจะประสานงานกับธนาคารแห่งใหม่อย่างใกล้ชิด และร่วมสร้างความรุ่งเรืองให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
  • สัดส่วนหนี้เสียของธนาคารรายใหญ่ของจีนปรับตัวลดลงในปี 2555 ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้าที่สุดในรอบ 13 ปี โดยสัดส่วนหนี้เสียของอากริคัลเจอรัล แบงก์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่สุดอันดับ 3 ของจีนเมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาด ปรับตัวลดง 1.33% จากปี 2554 ที่ระดับ 1.55% ในขณะที่รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 19%
  • เซนยิน แอนด์ หวังเกา ซิเคียวริตี้ส์ ประเมินว่า ยอดอนุมัติเงินกู้ใหม่ในรูปสกุลหยวนของสถาบันการเงินจีนจะอยู่ที่ 8.5 แสนล้านหยวนในเดือนมี.ค.นี้ โดยยอดอนุมัติเงินกู้ใหม่ของธนาคารรายใหญ่ 4 อันดับแรกของจีนอยู่ที่ 2.278 แสนล้านหยวนในระหว่างวันที่ 1-24 มี.ค. เมื่อเทียบกับ 1.44 แสนล้านหยวนในระหว่างวันที่ 1-17 มี.ค.
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า GDP ของฝรั่งเศสในไตรมาส 4/55 หดตัวลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/55 และลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 54 ซึ่งการบริโภคและการลงทุนที่ลดลงเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของยูโรโซนหดตัวลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ